ก.แรงงาน เปิดแข่งขันทักษะฝีมือหุ่นยนต์ MARA Skill Competition

ก.แรงงาน เปิดแข่งขันทักษะฝีมือหุ่นยนต์ MARA Skill Competition รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

อัปเดตล่าสุด 1 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 860 Reads   

รมว.พิพัฒน์ ดันกลุ่มแรงงานใหม่ นักศึกษาอาชีวะ ด้านอัตโนมัติและหุ่นยนต์ มอบเลขาเปิดแข่งขันทักษะฝีมือหุ่นยนต์ MARA Skill Competition รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

วันที่  31 มกราคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานสาขาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ครั้งที่ 3 “MARA Skill Competition 2023 ” มี นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารระดับสูงและหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดชลบุรี ร่วมพิธีเปิด พร้อมรับมอบห้องอบรมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะจากบริษัท อนาล็อก ดีไวเซส ( ประเทศไทย) และบริษัท HON. PRECISION, INC (HPI) ประเทศไต้หวัน มอบอุปกรณ์การฝึกอบรม เช่น เครื่อง มูลค่ากว่า 7 ล้านบาท  ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จังหวัดชลบุรี

นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลได้กำหนดให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต ประกอบกับสถานประกอบกิจการหลายแห่งในอีอีซีได้ใช้การผลิตด้วยระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทดแทนกำลังคนมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ต้องร่วมมือกันผลักดันการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานทั้งในรูปแบบการ Upskill และ Reskill โดยมุ่งเน้นที่พนักงานในสถานประกอบกิจการ กลุ่มแรงงานใหม่ และนักศึกษาอาชีวะให้เป็นแรงงานคุณภาพรองรับเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งอนาคต จึงเชื่อว่าการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานในวันนี้เป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมความพร้อมของกำลังแรงงานใหม่และส่งเสริมให้เยาวชนได้นำความรู้มาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการพัฒนากำลังคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้แก่เยาวชนอื่นๆ ในการก้าวเป็นแรงงานที่มีทักษะฝีมือ

นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ทางสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จัดการแข่งขันขึ้นระหว่างวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ 2567 แข่งขัน 6 สาขา แบ่งเป็นแบบทีม ทีมละ 2 คน จำนวน 4 สาขา ได้แก่ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ สาขาการควบคุมหุ่นยนต์ Robot Magician สาขาการซ่อมบำรุงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม สาขาการควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์อุตสาหกรรม และแบบบุคคล จำนวน 2 สาขา ได้แก่ สาขาเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) สาขาปัญญาประดิษฐ์ ซีลาร์ คอร์ (CiRA CORE) ผู้เข้าแข่งขันเป็นนักศึกษาอยู่ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเขตอีอีซี อาทิ วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก อี.เทค วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี วิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี เป็นต้น รวมประมาณ 105 คน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันที่ชนะเลิศของแต่ละสาขาจะได้รับรางวัล ดังนี้  อันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่และเหรียญรางวัล อันดับที่ 2 รับเงินรางวัล 6,000 บาท และเหรียญรางวัล อันดับ 3 รับเงินรางวัล 3,000 บาทและเหรียญรางวัล

ภายในงานยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญ คือ รับมอบห้องฝึกอบรมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) จะใช้ในการพัฒนากำลังแรงงานในสายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องใช้ภายในบ้าน และรถยนต์ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท HON.PRECISION, INC (HPI) ประเทศไต้หวัน มอบอุปกรณ์การฝึกอบรม เช่น เครื่องทดสอบชิ้นงานประเภท Single Site ASL 1000 เครื่องลำเลียงชิ้นงานประเภท Gravity ASECO S170C และ Pick-and-Place HT9045W รวมมูลค่ากว่า 7 ล้านบาท ทั้ง 2 กิจกรรมจะบรรลุเป้าหมายไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนมาเติมเต็มข้อจำกัดของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและ EEC ด้วยแรงงานคุณภาพสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“สำหรับสถาบัน MARA เป็นหน่วยฝึกอบรมที่จัดตั้งขึ้นตามภารกิจพิเศษ ในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในพื้นที่ EEC ในปี 2567 ได้ดำเนินการฝึกอบรมแบบ “EEC Model Type B” ที่เอกชนมีส่วนร่วมในการฝึกอบรม ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมตามแผนงาน โดยหลักสูตรที่ฝึกอบรม เช่น การประยุกต์ใช้ PLC ในงานอุตสาหกรรม การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและการผลิต (เครื่องกลึง) การใช้โปรแกรม Solidworks for CAD การใช้โปรแกรม NX for CAD เทคโนโลยีการเชื่อมด้วยหุ่นยนต์ เป็นต้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 มีผู้เข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆ กว่า 1 พันคน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 พัน”  อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในท้ายที่สุด

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH