สจล. ปักธงนวัตกรรม-สตาร์ทอัปไทยดังไกลในเวทีโลก

สจล. ปักธงนวัตกรรม-สตาร์ทอัปไทยดังไกลในเวทีโลก งาน CES 2024 ที่สหรัฐอเมริกา

อัปเดตล่าสุด 23 ม.ค. 2567
  • Share :
  • 1,795 Reads   

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำ 3 นวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทยโชว์งาน CES 2024 (Consumer Electronics Show) งานแสดงเทคโนโลยีระดับโลกที่รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา

นวัตกรรมไทยดังไกลไประดับโลก ในงาน CES 2024…สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KMITL Research and Innovation Services : KRIS) นำ 3 นวัตกรรมและสตาร์ทอัพไทย ได้แก่ แบตเตอรี่กราฟีน โดยทีม K2, อีเซีย (EASEA) ลูกประคบไฮเทค โดยทีม Electron Plus และ อีวีทัล (eVTOL) ระบบสำรวจทางอากาศยานไร้คนขับ โดยทีม eVTOL โชว์ผลงานนวัตกรรมเด่นฝีมือคนไทย ในงาน ‘Consumer Electronics Show (CES) 2024’ ศูนย์รวมเทคโนโลยีโลกที่ธุรกิจอุตสาหกรรม และสตาร์ทอัพต่างรอคอย ณ เมืองลาสเวกัล รัฐเนวาดา สหรัฐอเมริกา

รศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล.มุ่งสร้างกำลังคนที่มีทักษะเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของคนไทยและศักยภาพการแข่งขันในเวทีโลกด้วยวิสัยทัศน์ ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ จากโครงการ Deep Tech Acceleration ของ สจล.ผลักดันให้นวัตกรและสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของไทยได้แสดงศักยภาพสู่โอกาสการสร้างธุรกิจบนเวทีและตลาดโลกเป็นที่น่ายินดีกับนวัตกรรม Deep Tech ทั้ง 3 ทีมจากประเทศไทยได้รับความสนใจจากผู้ชมงานและนักธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นอย่างสูงในเวทีโลก ในงาน ‘Consumer Electronics Show (CES) 2024’ ซึ่งเป็นงานแสดงนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์และภูมิทัศน์แห่งเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมเทคโนโลยีส่วนบุคคล โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ และอื่นๆ ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์

ความเป็นมาจัดครั้งแรกในนครนิวยอร์คเมื่อปี 1967 และพัฒนาก้าวหน้ามาถึงปัจจุบันโดยเป็นงานที่ทุกธุรกิจอุตสาหกรรมต่างรอคอย มีผู้แสดงผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีกว่า 4,000 ราย
ทั้งแบรนด์ดัง สตาร์ทอัพ นวัตกรชั้นนำระดับโลก นักธุรกิจอุตสาหกรรม และผู้นำภาครัฐตื่นตาตื่นใจกับการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย การเปิดตัวใหม่ๆ และนวัตกรรมที่น่าทึ่ง รวมทั้งแบรนด์ดังก็มา อาทิ อเมซอน กูเกิ้ล ซัมซุง แอลจี ฮอนด้า ลอรีอัล งานปีนี้ยังประกาศความร่วมมือระหว่างสมาคมคอนซูเมอร์เทคโนโลยีกับแคมเปญสหประชาชาติ โดยได้เพิ่ม ‘เทคโนโลยี’.ให้เป็นเสาหลักที่ 8 ความมั่นคงของมนุษย์ทุกคน ‘Human Security for All’ ซึ่งเทคโนโลยีจะมีบทบาทสนับสนุนให้ 7 เสาหลักเดิมประสบความสำเร็จรวดเร็วไปด้วยกัน ได้แก่ Food Security, การเข้าถึงการรักษาพยาบาล, ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ, การปกป้องสิ่งแวดล้อม, การเดินทางและความปลอดภัยส่วนบุคคล,
ความมั่นคงในชุมชน, เสรีภาพของการเชื่อมต่อและแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนการเข้าถึงเทคโนโลยี

ผศ. ดร.รัชนี กุลยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง Deep Tech ฝีมือคนไทยที่ สจล. นำมาจัดแสดงในงาน CES 2024 ได้รับความสนใจและการตอบรับอย่างมากจากนานาชาติ ได้แก่

1. แบตเตอรี่กราฟีน (Graphene Battery) โดย ทีม K2 โชว์นวัตกรรมแบตเตอรี่พลังงานสะอาด ใช้วัตถุดิบและผลิตในประเทศไทยได้ 100% สามารถใช้โมเดล BCG นำของเสียจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบใหม่ได้อีกครั้ง ช่วยลดต้นทุน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้เวลาไม่ถึงปีในการพัฒนาจนได้ต้นแบบที่ใช้งานได้จริงและจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์โดยภาคอุตสาหกรรม บ.ซัน วิชั่น เทคโนโลยีเร็วๆ นี้ ‘แบตเตอรี่กราฟีน’ โดดเด่นด้วยคุณสมบัติสุดพิเศษ กักเก็บพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น มีอัตราการอัดประจุที่รวดเร็วขึ้น
ไม่ร้อน ไม่ระเบิด ปลอดภัย และอายุการใช้งานยาวนานกว่าแบตเตอรี่แบบเดิมได้รับความสนใจจากหลายประเทศซึ่งให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดและความยั่งยืน หนึ่งในเทรนด์ของ CES 2024แสดงถึงคนไทยมีฝีมือไม่แพ้ชาติใดในโลก

2. อีเซีย (EASEA) ลูกประคบไฮเทค โดยสตาร์ทอัพ ทีม Electron Plus นวัตกรรมใหม่ที่รวมคุณสมบัติโดดเด่นของภูมิปัญญาวิธีการนวดไทยทั้งการนวดร้อน นวดเย็น รวมถึงการนำมาใช้ร่วมกับ Aroma ที่เป็นสมุนไพรไทย โดยการนำเทคโนโลยีหลัก คือ Flexible Thermoelectric มาใช้ โดยเมื่อจ่ายไฟให้กับ ‘เครื่องนวดลูกประคบไฮเทค’ อีเซีย (EASEA) จะเกิดทั้งความร้อนและความเย็น ใช้นวดคลึงบริเวณที่ปวดเมื่อยมีหัวสองฝั่งด้านร้อนและด้านเย็น ด้านร้อนสามารถทำความร้อนได้สูงสุด 45 องศาเซลเซียส ทำให้ร่างกายผ่อนคลายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีโหมดนำความร้อนเหลือทิ้งมาเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ด้วย

3. อีวีทัล (eVTOL) โดย ทีมอีวีทัล วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ (International Academy of Aviation Industry : IAAI) โชว์ผลงานระบบเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับและดิจิทัล เพื่อสำรวจจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุบัติภัย โดยใช้โดรนไฟฟ้าขับเคลื่อนในแนวดิ่ง ไร้เสียงรบกวน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดค่าใช้จ่าย โดดเด่นด้วยการพัฒนา AI ของตนเอง เพื่อใช้ในงานสำรวจวิเคราะห์คาร์บอน ซึ่งมีสมรรถนะความสามารถเหนือกว่าหลายแบรนด์และหลายประเทศ ซึ่งยังไม่มีประเทศใดคิดขึ้นมา

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH