เอกชนเฮ! ก.อุตฯ ปลดล็อค โซล่ารูฟท๊อป ลดค่าไฟ ดันพลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

ก.อุตฯ ปลดล็อค Solar Rooftop ลดค่าไฟ ดันพลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 2567
  • Share :
  • 802 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม รับลูก "เศรษฐา" สนับสนุนพลังงานสะอาด เดินหน้าปลดล็อคการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ส่งเสริมการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจใช้พลังงานสะอาด มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน คาดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าแก้ไขกฎหมายปลดล็อคให้การผลิตพลังงานไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการแก้ไขกฎกระทรวง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 โดยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล

โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาดและราคาถูก ซึ่งจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่จะตอบสนองกติกาสากลและช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เพิ่มมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแบบ “ซีโร่คาร์บอน” และนโยบาย “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ของ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศในการลงทุน และเน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนให้มากที่สุด

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานข้อมูลกับภาคเอกชน อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการติดตั้งโซล่าเซลล์มีราคาที่ถูกลง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ประสงค์จะติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เป็นจำนวนมาก เช่น อาคารโรงงาน ศูนย์การค้า โรงแรม มหาวิทยาลัย เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายโรงงานเดิมกำหนดว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ หรือ 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีการผลิตโซล่าเซลล์มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณมากโดยใช้จำนวนแผงเซลล์แสงอาทิตย์หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงกว่าเดิมถึง 2.7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2557 อีกทั้งยังมีมาตรฐานควบคุมด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การปลดล็อคดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจจากการติดตั้ง Solar Rooftop ได้ง่ายขึ้น ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้62,500 ต้น นับเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการเกิดการขับเคลื่อนทางธุรกิจอย่างสมดุลและยั่งยืนใน 4 มิติ ทั้งด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจต่างๆ ส่งเสริมการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) การได้รับการยอมรับจากสังคม ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
สู่อุตสาหกรรมสีเขียวเพื่อโอกาสทางธุรกิจตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และการกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการขยายตัวของธุรกิจติดตั้งโซล่าเซลล์ อีกทั้ง การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดดังกล่าว จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ของประเทศไทย ต่อไป ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย MIND ใช้หัวและใจปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH