รมว.พิมพ์ภัทรา เผยทิศทางการพัฒนาอุตฯ ไทยในงาน The Journey of Sustainable Partnership 2024
กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมไทย มุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในด้านเทคโนโลยี สภาพภูมิอากาศ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกำหนดนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยใน 4 มิติ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ
วันที่ 16 มกราคม 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยกับ “พิมพ์ภัทรา” ในงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” ถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ภายใต้ความท้าทายและโอกาส ว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความซับซ้อนมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยูเครน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันในภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ
- สินเชื่อลดโลกร้อนบูม SME ยื่นขอแล้ว 1.9 พันลบ. เตรียมอนุมัติวงเงินเพิ่ม 36%
- จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุด 2566 เดือนพฤศจิกายน 'ชลบุรี' ครองแชมป์
- ก.อุตฯ ส่งความสุขปีใหม่ 2567 ผ่าน 4 ของขวัญ หนุนผู้ประกอบการ-ประชาชน
อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความสำเร็จอย่างสมดุลใน 4 มิติ ทั้งด้านความสามารถในการแข่งขัน การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคม การตอบโจทย์กติกาสากลด้านสิ่งแวดล้อม และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นโยบายที่สำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นอุตสาหกรรมที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเร่งพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในประเทศเพื่อยกระดับการผลิตให้สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Value Chain ของโลก รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอุตสาหกรรมเหล่านี้
ขณะเดียวกันจะพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ โดยนำมาตรฐาน ผลิตภาพ และนวัตกรรม (SPRING) มาเป็นเครื่องมือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงเชื่อมโยงกับภาคบริการ อาทิ อุตสาหกรรมรีไซเคิล อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีนวัตกรรม (Innovative Construction) การผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมไทยเป็นเครื่องยนต์สร้างการเติบโตและรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมให้เข้มงวดขึ้น ควบคู่กับการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ และกากของเสีย ขณะที่มาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการต่างๆ จะผลักดันมาตรฐานอุตสาหกรรมเพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้การบริการ การขออนุมัติอนุญาต และการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การให้บริการในรูปแบบ One Stop Service ต้องเข้าถึงและใช้งานง่าย มีความโปร่งใส เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพให้มีความเข้มแข็งและอยู่รอดได้ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงต่างๆ ด้วยการสนับสนุนองค์ความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่อนไหวสูงที่ต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกันระหว่างภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม
“กระทรวงฯ ให้ความสำคัญกับโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (ชุมพร-ระนอง) (Landbridge) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่จะสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย ช่วยเชื่อมโยงทางกายภาพระหว่างภาคใต้ของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาค รวมถึงประเทศจีนตอนใต้ เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งจะช่วยลดเวลา และระยะทางการขนส่งจากเดิม ทำให้ประหยัดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มศักยภาพทางการค้าของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศที่อยู่ทางด้านมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมกันบูรณาการการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประเทศไทยจะมีศักยภาพรองรับการลงทุนมากขึ้นในอนาคต” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) กล่าวว่า กนอ. ตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนภาคเอกชนต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในปี 2567 กนอ. จึงกำหนดแผนฟื้นฟูการลงทุน โดยลดบทบาทการเป็น regulator มาเป็น facilitator ที่มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกและสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกด้าน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน โดยแผนฟื้นฟูการลงทุนของ กนอ. ประกอบด้วย
1.การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ ๆ ให้พร้อมรับการลงทุน
2.ส่งเสริมการลงทุน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและการตลาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจัดหาแหล่งเงินทุนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ
3.พัฒนาผู้ประกอบการด้วยการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และ 4.สร้างความยั่งยืนโดยเน้นพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลัก
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม เป็นคู่ค้าที่สำคัญของ กนอ. ที่ผ่านมาทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรม รวมทั้งบริหารจัดการสถานประกอบการให้อยู่ในมาตรฐานของ กนอ. ตลอดจนสร้างแรงงานที่มีศักยภาพ ไปจนถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานให้กับหลายกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น งานในวันนี้ (15 ม.ค.67) จึงเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ทิศทางการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมของประเทศ รวมถึงการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อผลักดันนโยบายของรัฐบาลไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคมต่อไป ภายใต้แนวคิดที่ว่า นิคมอุตสาหกรรมอยู่คู่กับชุมชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
สำหรับงาน “The Journey of Sustainable Partnership 2024” มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน อาทิ น.ส.ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน เช่น บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) บมจ. เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) และ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ใน 2566
- คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คืออะไร ทำไมถึงต้องเร่งสร้างคาร์บอนเครดิต
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2566 ฟรี
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ 2565
- ยอดขายโทรศัพท์ 2023 ทั่วโลก
- GAC AION Thailand
- เปิดโผ 8 อุตสาหกรรมเด่นเติบโตสูงในปี 2566
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH