รมว. อุตฯ แจงกระแสข่าวโรงงานปิดกิจการ เผยมีโรงงานเปิดใหม่มากกว่า 74%

รมว. อุตฯ แจงกระแสข่าวโรงงานปิดกิจการ เผยมีโรงงานเปิดใหม่มากกว่า 74%

อัปเดตล่าสุด 1 ก.ค. 2567
  • Share :
  • 5,372 Reads   

รมต.พิมพ์ภัทรา เปิดข้อมูลกรมโรงงานอุตสาหกรรม 5 เดือนแรกของปี 2567 พบว่า มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะที่โรงงานเปิดกิจการใหม่มี 848 โรงงาน มากกว่าถึงร้อยละ 74 มูลค่าเงินลงทุนและการจ้างงานมากกว่าหลายเท่าตัว กำชับหน่วยงานภายใต้กำกับกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดมาตรการช่วยขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้มากขึ้น

26 มิถุนายน 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยถึงกรณีกระแสข่าวการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบันว่า จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2567 ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าภาพรวมในปี 2567 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม 2567 มีโรงงานปิดกิจการ 488 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่  848 โรงงาน โดยจำนวนโรงงานเปิดใหม่สูงกว่าปิดถึงร้อยละ 74 และเมื่อพิจารณามูลค่าเงินลงทุนจากการเลิกประกอบกิจการ พบว่า มีจำนวน 14,042  ล้านบาท ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีเงินลงทุนถึง 149,889 ล้านบาท ซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่าปิดกิจการกว่า 10 เท่า และในด้านการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปิดกิจการมีการเลิกจ้างงาน 12,551 คน ในขณะที่การเปิดโรงงานใหม่มีการจ้างงานถึง 33,787 คน ซึ่งมีความต้องการแรงงานมากกว่า 21,236 คน นอกจากนี้ เมื่อรวมกับโรงงานเดิมที่มีการขยายกิจการจะมีอีกจำนวนกว่า 126 โรงงานเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 11,748  ล้านบาท และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 4,989 คน 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์สาเหตุการปิดกิจการโรงงาน ในปี 2567 พบว่ามาจากสาเหตุมีคำสั่งซื้อที่ลดลง เนื่องจากสินค้าที่ผลิตส่วนใหญ่เป็นสินค้าทั่วไป มีการแข่งขันด้านราคาและไทยมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในสินค้าบางประเภท เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การส่งออกก็ลดลงด้วย เพราะราคาสินค้าของไทยแพงกว่าประเทศอื่น แต่ก็ยังมีบางโรงงานที่ปิดกิจการเดิมและเปิดกิจการใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรมที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้ มีนักลงทุนบางส่วนได้ย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มากขึ้นด้วย

โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีเงินลงทุนเลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 2,297 ล้านบาท (เช่น PCB) 2) กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 1,456  ล้านบาท (โครงสร้างเหล็ก) และ 3) กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 930 ล้านบาท (เช่น ชิ้นส่วนพลาสติก) ทั้งนี้ ในกลุ่มโรงงานเปิดใหม่ที่มีเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร 29,644 ล้านบาท (เช่น อาหารสัตว์สำเร็จรูป) 2) กลุ่มเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 18,474  ล้านบาท (เช่น ปุ๋ยเคมี) และ 3) กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 12,378 ล้านบาท (เช่น PCB) และเมื่อพิจารณากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดทั้งการเลิกกิจการและตั้งโรงงานใหม่ พบว่า มีเงินลงทุนในการเลิกกิจการ 2,297 ล้านบาท แต่มีการเปิดกิจการใหม่ด้วยเงินลงทุน 12,378 ล้านบาท มากกว่าเลิกกิจการถึง 5 เท่า แสดงให้เห็นว่ากลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่เข้ามาเปิดกิจการใหม่ในไทยมากขึ้น 

นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปว่า ในภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันยังคงขยายตัว อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับความอยู่รอดของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SME จึงสั่งการให้กำหนดมาตรการเพื่อช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้จัดหาวัตถุดิบ หรือผู้กระจายสินค้า โดยแบ่งออกเป็นมาตรการเร่งด่วน ระยะสั้น ประกอบด้วย

         (1) เข้มงวดเรื่องการตรวจสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมุ่งเน้นตรวจสอบสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของประชาชน และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
         (2) พัฒนาสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีการผลิต โดยเน้นการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยภาคอุตสาหกรรม การจัดการตามมาตรฐานสากล เพื่อให้มีศักยภาพรองรับการปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
         (3) กระตุ้นตลาดในประเทศ โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการกระตุ้นการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตในประเทศ เช่น ผู้บริโภคสามารถนำค่าใช้จ่ายมาใช้ในการลดหย่อนภาษี และการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
         (4) สนับสนุนเงินทุน เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องของภาคอุตสาหกรรม เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อ SMEs โดย SME D Bank

สำหรับ มาตรการระยะยาว เป็นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ได้แก่

        (1) ปรับอุตสาหกรรมให้ตอบโจทย์ต้องการของโลก (S-Curve) มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยี เช่น Smart Electronics, Next-Generation Automotive, Future Food
        (2) สร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่โลกต้องการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมบริการตามเทรนด์โลก เช่น Circular for The Future, Innovative Construction
        (3) พัฒนาปัจจัยแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เช่น การแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจการพัฒนาทักษะแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การใช้ประโยชน์จากกรอบเจรจาต่าง ๆ การหา/ขยายตลาดใหม่
        (4) Green Productivity เพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งควบคู่ไปกับความยั่งยืน 
        (5) ส่งเสริมการลงทุน โดยจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสนับสนุนให้เกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง

“ทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตและแข่งขันได้มากขึ้น ยังคงให้ความสำคัญกับการดูแล SME ให้อยู่รอดและเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ที่แข็งแรง สามารถแข่งขันได้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใต้สังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น และเพื่อให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH