กกร. คง GDP ณ เดือนมิถุนายน ปี 67 เหลือ 2.2 - 2.7%

กกร. คง GDP ณ เดือนมิถุนายน ปี 67 เหลือ 2.2 - 2.7%

อัปเดตล่าสุด 5 มิ.ย. 2567
  • Share :
  • 4,577 Reads   

กกร. คาดการณ์ GDP ปี 2567 เหลือ 2.2-2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 2.8-3.3% และการส่งออกลงเหลือ 0.5-1.5% จากเดิมที่คาดไว้ 2.0-3.0% การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวชัดขึ้น ปริมาณการส่งออกของโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสำคัญยังฟื้นตัวได้ช้า

วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมในการแถลงข่าว

ประเด็นแถลงข่าว กกร.ประจำเดือน มิถุนายน 2567 มีดังนี้

  • การค้าโลกและปริมาณการส่งออกชะลอตัวชัดขึ้น ปริมาณการส่งออกของโลกชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสำคัญยังฟื้นตัวได้ช้า นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะมาตรการขึ้นภาษีรอบล่าสุดของสหรัฐฯต่อสินค้ากลุ่มรถยนต์ EV โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น โดยมีกำหนดบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมต่อการค้าโลก ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ถูกสหรัฐฯมองว่าจีนใช้เป็นฐานการผลิต
  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1/2567 เติบโต 1.5% ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนจากการหดตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จำกัด เนื่องจากการส่งออกฟื้นตัวได้ช้าตามการค้าโลกที่ชะลอตัว และปัญหาเอลนีโญ (ฝนแล้ง) ในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผลผลิตการเกษตรลดลง ส่วนการใช้จ่ายของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนในระดับสูง ทั้งปี กกร. คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 2.2-2.7%


 

​​ทั้งนี้ ที่ประชุมกกร. ได้มีการหารือในประเด็นสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้

1) กกร.เห็นด้วยและขอบคุณรัฐบาลที่ได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากการประชุม ครม. เศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเพิ่มการท่องเที่ยวช่วง Low-season ที่เชื่อว่าจะช่วยกระจายรายได้ไปทั่วประเทศ รวมถึงการเสนอมาตรการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. วงเงินประมาณ  5 หมื่นล้านบาทที่เตรียมนำเสนอ ครม.นั้น จะส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการลงทุน การจ้างงาน และการบริโภค และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประมาณ  2 แสนล้านบาท ทั้งนี้กกร. พร้อมเข้าไปมีส่วนช่วยคัดกรองและรับรอง SMEs ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ที่ประชุมกกร. ได้เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการเพิ่มเติมในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้ SMEs เข้ามาอยู่ในระบบเศรษฐกิจ เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวและเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น 

2) กกร.อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐเกี่ยวกับแนวทางการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) และดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ตามข้อเสนอของภาคเอกชนในประเด็นที่ได้นำเสนอรัฐบาลไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยแต่ละพื้นที่จะประสานผ่าน กกร.จังหวัดให้มีการหารือร่วมกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด (ไตรภาคี) ต่อไป 

3) ที่ประชุม กกร.มีความกังวลต่อภาคการส่งออกสินค้าที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว  จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่มีแนวโน้มกลับมารุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของจีนไปยังสหรัฐฯ ทำให้จีนต้องหาตลาดใหม่ทดแทนเพื่อส่งออกสินค้า ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยกดดันจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทันเนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคส่งออก และส่งเสริมสินค้าที่มีศักยภาพ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุดเพื่อเพิ่มมูลค่าในการส่งออกของประเทศ

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2567 ของ กกร.
(ณ เม.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.8 ถึง 3.3
ส่งออก 2.0 ถึง 3.0
เงินเฟ้อ 0.7 ถึง 1.2

(ณ พ.ค. 67) ปี 2567
GDP 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 0.5 ถึง 1.5
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

(ณ มิ.ย. 67) ปี 2567
GDP 2.2 ถึง 2.7
ส่งออก 0.5 ถึง 1.5
เงินเฟ้อ 0.5 ถึง 1.0

#เศรษฐกิจไทย #GDP Thailand #การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน #กกร. #หอการค้าไทย #สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #สมาคมธนาคารไทย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH