
สกพอ. – สอวช. ผนึกกำลังปั้นกำลังคนทักษะสูงรับ New S-Curve ดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอุตสาหกรรมโลก!
อีอีซี จับมือ สอวช. ปั้นกำลังคนขั้นสูง พร้อมดัน STEM Plus รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต สร้างศูนย์กลางนวัตกรรมการผลิตไทย
26 พฤษภาคม 2568 - ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี และ ดร. สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษและการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ระหว่าง สกพอ. และ สอวช. ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันติดตามสถานการณ์ของเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ พื้นที่อีอีซี พร้อมกับสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และยกระดับเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนาในประเทศ
ดร. จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ สกพอ. กล่าวว่า ความร่วมมือตาม MOU นี้ จะเป็นก้าวสำคัญที่ สกพอ. และ สอวช. จะร่วมดำเนินการใน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การร่วมมือในการประเมินศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่อีอีซี และสนับสนุนการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 2) การส่งเสริมระบบนิเวศการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง โดยมุ่งเป้าให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา การยกระดับเครือข่ายระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา เพื่อสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูง การสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ 3) สนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลนักวิชาการและแรงงานทักษะสูง ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และพัฒนาแนวทางการพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ
ทั้งนี้ สกพอ. พร้อมจะให้ความสำคัญการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษตามความต้องการของประเทศ โดยจะขับเคลื่อนผ่านแนวทางและกลไกของ สอวช. ในการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบโจทย์การลงทุนของภาคผลิตและบริการ อาทิ นโยบายพัฒนากำลังคน (Manpower Policy) ซึ่งมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนและปฏิรูประบบและกลไกกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา และแพลตฟอร์ม STEM Plus ที่มุ่งเน้นที่ตำแหน่งงานระดับสูงในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ครอบคลุมอุตสาหกรรม New S-curve ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยที่ผ่านมาทำให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 10,684 อัตรา และมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 445,967 คน จาก 1,205 หลักสูตร 129 หน่วยฝึกอบรม ซึ่งกลไกเหล่านี้จะช่วยพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดงานอย่างยั่งยืนในพื้นที่อีอีซีและประเทศต่อไป
ดร. สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. มีภารกิจในการกำหนดแนวทางในการนโยบายการพัฒนากำลังคนรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษของประเทศ โดยขับเคลื่อนใน 4 มิติ ได้แก่ 1) Formulation ปรับนโยบายพัฒนากำลังคนตามความต้องการของประเทศ 2) Adoption จัดลำดับความสำคัญการพัฒนากำลังคนทักษะสูง ผ่านนวัตกรรมการจัดการศึกษา 3) Integration การสร้างแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ (STEM Plus) 4) Evaluation กำหนดเป้าหมายสัดส่วนกำลังคนสมรรถนะสูง 25% และเพิ่มสัดส่วนหลักสูตรบูรณาการ และได้ย้ำว่าความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และ สอวช. ในครั้งนี้ จะเป็นการร่วมกันทำงานเชิงรุก เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการ โดยมีพื้นที่อีอีซี เป็นพื้นที่เป้าหมายสำคัญ ด้วยเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและบริการของประเทศ
#ลงทุนอีอีซี #STEMPlus #EEC #เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม #NewSCurve #MReportTH #IndustryNews
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2567
- 10 อันดับธุรกิจดาวรุ่ง ปี 2568
- คาร์บอนเครดิต คือ
- ยอดขายมอเตอร์ไซด์ 2567
- “ยานยนต์ไร้คนขับ” กับทิศทางการเติบโตในปี 2022-2045
- ยอดลงทุนปี 67 ทะลุ 1 ล้านล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์
- ยอดจดทะเบียนใหม่ยานยนต์ไฟฟ้า 2567
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2567
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- 5 เทคนิค “มือใหม่ใช้เครื่อง CNC”
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH