ก.อุตฯ ลุยขับเคลื่อนทิศทางอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 7.2 ล้านตันต่อปี

ก.อุตฯ ลุยขับเคลื่อนทิศทางอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 7.2 ล้านตันต่อปี

อัปเดตล่าสุด 12 ก.ค. 2567
  • Share :
  • 4,405 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรมไทยประกาศแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวผ่านกลไก 3 ด้าน: Green Productivity, Green Marketing และ Green Finance ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 7.2 ล้านตันต่อปี  พร้อมยกระดับผู้ประกอบการกว่า 1,800 ราย และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,380 ล้านบาท

กรุงเทพฯ 12 กรกฎาคม 2567 นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่าง ๆ ให้ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาวะโลกเดือด ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นจนเกินสมดุล ดังนั้นเพื่อผลักดันภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตทางเศรษฐกิจและตอบโจทย์ตลาดโลก ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการให้เป็นหน่วยงานภาครัฐของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ “สู้ให้ทุกปัญหา พึ่งพาได้ทุกเรื่อง” โดยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา ส่งต่ออุตสาหกรรมสีเขียวจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านกลไก 3 ด้าน คือ

1) Green Productivity โดยการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เพื่อก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมสนับสนุนพลังงานสะอาด อาทิ ปลดล็อคเรื่องการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และโครงการโรงไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานของภาคธุรกิจ ผลักดันการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Circular แห่งแรกของประเทศในพื้นที่ EEC เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมการ Recycle เพื่อลดการเกิดของเสีย สนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากใบและยอดอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวภาพแทนการเผาทิ้ง เพื่อแก้ปัญหา PM 2.5 พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) โครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และโครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG

2) Green Marketing เน้นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรม และ SME ในตลาดยุคใหม่ที่มีการกีดกันทางการค้า รวมถึงกฎหมาย และกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความ ท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน พร้อมสนับสนุนการทำ Carbon Footprint of Product และ Carbon Footprint of Organization นอกจากนี้ ยังส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

3) Green Finance ด้วยการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน ผ่านการให้สินเชื่อลดโลกร้อน ต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อลดโลกร้อน (Decarbonize Loan) จากกองทุกเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สินเชื่อธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG Loan) จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) และสินเชื่อธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (DIPROM Pay for BCG) จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM)

นางสาวพิมพ์ภัทรา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งสร้างการรับรู้ให้ภาคอุตสาหกรรมได้ตระหนักและให้ความสำคัญ ในการลดการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการภาวะโลกร้อนที่เป็นความท้าทายต่อภาคการผลิตของประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถนำร่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมได้มากกว่า 7.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ขานรับทิศทางการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมทั้ง 3 ด้าน โดยเชื่อมกับนโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต มุ่งยกระดับให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมสามารถปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก (RESHAPE THE INDUSTRY) โดยเฉพาะในเรื่องของการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ผ่านการจัดกิจกรรม “Moving Green Forward ก้าวไปข้างหน้า เพื่อโลก เพื่อเรา” ซึ่งภายในงานจะได้เรียนรู้เทรนด์ธุรกิจ องค์ความรู้ และมุมมองการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ครบทุกมิติ ทั้งการบรรยายและเสวนาจากองค์กรและบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหารจัดการด้านอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมกับกิจกรรมคลินิกให้คำปรึกษาแนะนำจากหน่วยงานพันธมิตรที่มาจัดแสดงสินค้านวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การให้แนะนำสินเชื่อสำหรับธุรกิจรักษ์โลกจากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ โครงการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่มุ่งส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยตั้งเป้ายกระดับผู้ประกอบการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศจำนวนกว่า 1,800 ราย และคาดการณ์ว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 1,380 ล้านบาท ทั้งนี้ ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH