ผลักดันไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เร่งขับเคลื่อนงานวิจัยพัฒนาด้าน EV ด้วยขุมพลังด้านกำลังคน เครื่องมือและเทคโนโลยีของ สวทช.

สวทช. รุกวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รองรับ EV-Transformation

อัปเดตล่าสุด 22 ก.พ. 2567
  • Share :
  • 4,316 Reads   

สวทช. รุกวิจัยพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า รองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้รถ ICE มาสู่รถไฟฟ้า (EV-Transformation) ตามนโยบาย อว. FOR EV ที่มีความพร้อมในทุกด้าน โดยสิ่งสำคัญคือสร้างกำลังคนเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์ไฟฟ้า

16 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และประธานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) ได้ประชุมบอร์ด กวทช. พร้อมมอบหมายให้ สวทช. ดำเนินงานเชิงรุกในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านการใช้รถ ICE มาสู่รถไฟฟ้า หรือ EV-Transformation เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย อว. FOR EV ตอบโจทย์บอร์ดอีวี ซึ่งมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 และผลักดันไทยขึ้นแท่นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า สวทช. พร้อมเดินหน้าทำงานทันทีหากรัฐบาลให้การสนับสนุน  เพราะเรามีขุมพลังทั้งในด้านกำลังคน การวิจัยพัฒนา และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถสนับสนุนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าตาม 4 พันธกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริการทดสอบตามมาตรฐาน การส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการเพิ่มบุคลากรวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม

สวทช. ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่การพัฒนาแพลตฟอร์มยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV Platform) ระบบขับขี่อัตโนมัติ การพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับจักรยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาในกลุ่มมอเตอร์ ระบบขับเคลื่อน และโครงสร้างน้ำหนักเบา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สมรรถนะ และลดต้นทุนของยานยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลวัสดุในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในหนทางช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเป็นปัญหาขยะมลพิษในอนาคต ไม่เพียงเฉพาะยานยนต์ สวทช. ยังศึกษาวิจัยถึงการเชื่อมต่อในระบบ IoT ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์และสื่อสาร ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลากหลายมิติมากยิ่งขึ้น

ในด้านความปลอดภัย สวทช. มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริการทดสอบ สอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล อาทิ การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้าและความปลอดภัยสำหรับระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ทั้งคัน การทดสอบอุปกรณ์อัดประจุยานยนต์ไฟฟ้า (EV Charger) ทดสอบชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งเซลล์แบตเตอรี่ลิเทียม โมดูลแบตเตอรี่ของจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่แพ็กของยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมการดัดแปลงรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปภายในไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงหรือ EV Conversion เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยอีกด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ กล่าวว่า ในด้านการส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนและยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยกลไก EV Transformation หรือการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. รวมถึงการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน และคาร์บอนเครดิต สวทช. ได้พัฒนากลไกสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงของการลงทุน มีการดำเนินงานทั้งกลไกด้านการเงิน ภาษี และมาตรการส่งเสริมภาคธุรกิจ และให้คำปรึกษาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบ่มเพาะและพัฒนาผู้ประกอบการในกระบวนการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญในการเตรียมรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า คือ การเพิ่มบุคลากรวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม สวทช. มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมพัฒนาและแลกเปลี่ยนบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูง อีกทั้งยังได้พัฒนาส่งเสริมเพิ่มทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมด้วยการจัดหลักสูตรการอบรมและการสอบมาตรฐาน เพื่อสร้างกำลังคนที่ช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

1. ยอดขายรถยนต์ 2566
2. คาร์บอนเครดิต คืออะไร
3. อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2567
4. Apple ครองตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในปี 2023
5. การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายไร้สาย 5G
6. ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 2566
7. สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2566
8. เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
9. กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ
10. solid state battery คือ

 

อัปเดตข่าวอุตสาหกรรมทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH