ดีพร้อม นโยบายโควิด 2.0

5 มาตรการ "พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด" ช่วยผู้ประกอบการ

อัปเดตล่าสุด 30 ก.ค. 2564
  • Share :
  • 948 Reads   

ดีพร้อม ออกมาตรการเร่งด่วน "พร้อมสู้ อยู่ได้ ไปรอด" หนุน 5 มาตรการช่วยผู้ประกอบการ เผยปัญหา “การตลาด” “การเข้าถึงแหล่งเงินทุน” “การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม” เป็นเรื่องหลักที่ผู้ประกอบการพบเจอมากที่สุดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด 

วันที่ 29 กรกฎาคม 2564 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เร่งเปิดแผนระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเร่งด่วนใน 60 วัน ผ่านมาตรการต่าง ๆ ภายใต้แนวนโยบายโควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด" ประกอบด้วย 1) การจัดการโควิดในองค์กร 2) การตลาดภายใต้โควิด 3) เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน4) สร้างเครือข่ายพันธมิตร และ 5) ปรับโมเดลธุรกิจ

ซึ่งทั้ง 5 มาตรการคาดว่าจะคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากผลการดำเนินงานครึ่งปี 2564 ภายใต้นโยบายสติ (STI) ดีพร้อมได้ส่งเสริมไปแล้ว จำนวน 3,061 กิจการ 6,929 คน 21 กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรม

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยในวงกว้าง พบว่าหน่วยงานด้านเศรษฐกิจรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ไทยโต เพียง 1% จากที่ในไตรมาสแรกของปี 2564 ที่ตัวเลข 2.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากติดลบ 6.1% ในปี 2563 ขณะเดียวกันสถานการณ์ภาพรวมของเอสเอ็มอีที่มีจำนวน 3.1 ล้านล้านราย ในปี 2564 น่าจะยังคงน่ากังวล เพราะเมื่อพิจารณาถึงโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว บริการ และกลุ่มค้าส่งค้าปลีก โดยจากข้อมูลสถิติพบว่า GDP SMEs ในปี 2563 ซึ่งปรับตัวลบ 9.1% และได้ประเมินว่าในปี 2564 คาดว่า จะติดลบที่ 4.8%  

ดีพร้อม SMES

อย่างไรก็ตาม ดีพร้อมได้ทำการสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์รายย่อย เพื่อทราบถึงปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,574 สถานประกอบการ 

จากผลสำรวจพบ 8 ปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ตามลำดับดังนี้ 1. ปัญหาด้านการตลาด 66.82% 2. ปัญหาด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 21.92% 3. ปัญหาด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 13.74% 4. ปัญหาด้านวัตถุดิบและปัจจัยเอื้อในการประกอบธุรกิจ 11.40%5. ปัญหาด้านการเพิ่มผลิตภาพการผลิต 11.28% 6.ปัญหาด้านการจัดการ เช่นการขนส่ง บุคลากร 9.50%7. ปัญหาด้านต้นทุน 8.16% และ 8. ปัญหาด้านการพัฒนาอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ 8.16%จากผลสำรวจปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการณ์ดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้กำหนดแนวทางนโยบายการดำเนินงานในระยะต่อไปในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงาน โควิด 2.0 “พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด” ในระยะเร่งด่วนช่วง 60 วัน ดังนี้

1. การจัดการโควิดภายในองค์กร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสถานประกอบการปลอดเชื้อ โดยการแนะนำให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อบริหารจัดการสถานประกอบการภายใต้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19  สำหรับการช่วยเหลือธุรกิจอุตสาหกรรมให้ปลอดภัย โดยเน้นในการสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการองค์กร เพื่อป้องกันและรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นแบบองค์รวม ใน 9 หัวข้อวิชา ตั้งแต่ การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอาชีวอนามัยและสุขอนามัยการใช้เครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อลดความแออัด การประยุกต์ใช้มาตรฐานอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์จากสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019

2. การตลาดภายใต้โควิด โดยมุ่งเน้นการดำเนินการตลาดและการขยายตลาดในรูปแบบต่าง ๆประกอบไปด้วย 1) การส่งเสริมการทำการตลาดออนไลน์ภายใต้โครงการ DIProm Marketplaceโดยการสร้างช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถเข้ามาซื้อ-ขาย สินค้าและบริการดี ๆ มีคุณภาพ และได้รับการคัดสรรจากดีพร้อม และการเสริมแกร่งผู้ประกอบการด้วย Social Commerce 2) การส่งเสริมด้านกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ผ่านการฝึกอบรม eLearning 26 หลักสูตร พร้อมจะมุ่งเน้นการใช้ดิจิทัลเข้ามาเป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ และการถ่ายทอดประสบการณ์ของที่ปรึกษาและผู้ประกอบการที่ช่ำชองด้านการตลาดแบบออน์ไลน์ รวมทั้งเคล็ดลับหรือวิธีการเจาะลึกตลาดในอาเซียน จะช่วยเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ให้ลองเปิดใจที่จะก้าวออกจากกรอบเดิม ไปสู่ตลาดใหม่อันเป็นโอกาสดีที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถฝ่าวิกฤตนี้ไปได้ 3) แนวทางการช่วยเหลือด้านการขนส่ง ผ่านโครงการ ดีพร้อมแพค: บรรจุภัณฑ์สร้างสรรค์วิถีใหม่ (The Next Diprom Packaging: DipromPack) ด้วยการออกแบบ และพัฒนาบรรจุภัณฑ์สรางสรรค์ที่ตอบสนองต่อการดำเนินชีวิตแลประกอบธุรกิจใหม่เพื่อลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าผลิตภัณธ์ และเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ 4) แนวทางการตลาดร่วมเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ โดยเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนไทยเข้าสู่การรับรองตราสินค้า Made in Thailand หรือ MiT โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ผ่านการเสริมสร้างการรับรู้และสร้างโอกาสการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐผ่าน 3 ช่องทาง ประกอบด้วย การรับรอง Made in Thailand (MiT) โดย ส.อ.ท. การขึ้นทะเบียนเอสเอ็มอี Thai SME-GP ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. และการขึ้นบัญชีสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Thai GPP ของกรมควบคุมมลพิษ

3. เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นเงินทุน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจให้กลายเป็นเงินทุนในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ โดยการใช้ระบบคลังสินค้าออนไลน์ เพื่อเปลี่ยนเงินทุนด้วยเทคโนโลยี สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้แก่ผู้ประกอบการผ่านระบบ Google Sheet และ Line OA ซึ่งเป็นมาตรการช่วย SMEs แบบดีพร้อม ด้วยการให้คำปรึกษาและพัฒนาระบบการบริหารสินค้าคงคลัง เพื่อลดต้นทุนต้นทุนด้านโลจิสติกส์ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง  ต้นทุนการขนส่งสินค้า ต้นทุนการบริหารจัดการ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน  3 มิติ ได้แก่ ต้นทุน เวลา และความน่าเชื่อถือ ผ่าน โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการ

4. สร้างเครือข่ายพันธมิตร โดยดีพร้อมเป็นผู้จัดสรรและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรให้แก่ผู้ประกอบการผ่านโครงการสำคัญ ๆ ดังนี้ โครงการเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรและผู้แปรรูปโครงการเชื่อมโยงเทคโนโลยีเพื่อปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่โครงการเชื่อมโยงเครื่องจักรเพื่อแปรรูป (i-Aid) โครงการช่างชุมชนโดยการมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะวิชาชีพให้แก่ช่างในชุมชน

5. ปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการดำเนินการปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และการสร้างและพัฒนาผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (SP) และยังได้ช่วยเสริมทักษะทางการเงิน (Financial Literacy)  ให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจและให้ตระหนักถึงความสำคัญ เพื่อการตัดสินใจทางการเงินที่ดี นอกจากนี้ดีพร้อมยังได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยง (Business Continuity Plan) ในการดำเนินธุรกิจใหแก่ผู้ประกอบ โดยเน้นการรับมือและสร้างแนวทางการดำเนินธุรกิจกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจของสถานประกอบ

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานโครงการ/กิจกรรม มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดในระลอกใหม่นี้ ดีพร้อม คาดว่าในปีงบประมาณ 2564จะสามารถช่วยส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการในภาคส่วนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จำนวนรวม 3,356 กิจการ 11,955 คน 982 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้กว่า 8,000 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตามจากการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ภายใต้ นโยบาย “สติ (STI)” ที่มุ่งเน้นการพัฒนา3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย 1) SKILL : ทักษะเร่งด่วน โดยเร่งเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัว  2) TOOL : เครื่องมือเร่งด่วน เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อน และ 3) INDUSTRY : อุตสาหกรรมเร่งด่วน สร้างโอกาสจากต้นทุนที่ประเทศไทยมีจุดแข็ง เพื่อเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ครอบคลุมทุกมิติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือ ดีพร้อม ได้ใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี เพื่อปรับแผนการดำเนินงานโครงการให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด – 19 สอดคล้องกับมาตรการด้านสาธารณสุข และสอดรับกับการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่เปลี่ยนไปที่กระทบทั้งด้านรายได้ ด้านการจ้างงาน ด้านสภาพคล่องทางการเงิน และเงินทุนหมุนเวียน” นายณัฐพล กล่าวสรุป

 

#นโยบายโควิด 2.0 #ผลกระทบ โควิด #COVID-19 #มาตรการภาครัฐ #ช่วยเหลือผู้ประกอบการ #เสริมทักษะทางการเงิน #เอสเอ็มอี #SME #SMEs #สถานประกอบ #กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม #ดีพร้อม #DIPROM #นโยบายสติ (STI) #ปัญหา SME #ลดต้นทุน #แหล่งเงินทุน #การตลาด #Made in Thailand #MiT #Thai SME-GP

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH