สมอ. บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 คุมมลพิษรถบรรทุก-รถบัส-รถกระบะ-รถยนต์เล็ก เริ่ม 1 ม.ค. 67
บอร์ด สมอ. เห็นชอบให้บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 คุมมลพิษรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน มีผล 1 มกราคม 2567 มุ่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และรักษาสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายรัฐบาล
วันที่ 30 สิงหาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) หรือบอร์ด สมอ. ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ว่า บอร์ด สมอ. ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมรถบรรทุก รถบัส รถกระบะ และรถยนต์เล็ก ทุกรุ่นทุกคัน ต้องได้มาตรฐานยูโร 5 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ไม่ให้เกินเกณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งเป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ได้กำชับให้ สมอ. เร่งรัดกำหนดมาตรฐานเพื่อควบคุมปริมาณสารมลพิษจากยานยนต์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้กำหนดมาตรฐานแล้วจำนวน 34 มาตรฐาน อาทิ รถยนต์ขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและเบนซิน รถมอเตอร์ไซค์ การทดสอบสารมลพิษจากเครื่องยนต์ และมลพิษทางเสียงที่เกิดจากรถยนต์ตั้งแต่ 4 ล้อ ขึ้นไป เป็นต้น
- มาตรฐาน มอก. ยูโร 5 และ 6 การออกใบอนุญาตทำผลิตภัณฑ์หรือนำเข้าผลิตภัณฑ์
- บอร์ด สมอ. ฟันธงไม่คุม “ชิ้นส่วนท่อไอเสียมอเตอร์ไซค์” ใช้มาตรฐานทั่วไปตามเดิม
ด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานยูโร 5 นี้จะควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ออกไซด์ของไนโตรเจน และปริมาณสารมลพิษอนุภาคหรือฝุ่นจากเครื่องยนต์ โดยมีระบบวินิจฉัยอุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษ ซึ่งเป็นระบบที่จะแจ้งผู้ขับขี่ในกรณีที่อุปกรณ์ควบคุมสารมลพิษทำงานผิดปกติ รวมทั้งมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ารถยนต์ที่ผ่านการใช้งานไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ยังคงสามารถควบคุมมลพิษตามเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรฐานได้
การบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวถือเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งสำคัญของไทย ที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยสารมลพิษจากรถยนต์ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่นละอองขนาดจิ๋วหรือ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้ลดน้อยลง นำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน โดยหลังจากนี้ สมอ. จะดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อให้มาตรฐานดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตามระยะเวลาที่กำหนดต่อไป
นอกจากนี้ บอร์ด สมอ. ยังได้เห็นชอบมาตรฐานเพิ่มเติมอีก 29 มาตรฐาน อาทิ เชื้อเพลิงชีวมวล ไม้สับ เชื้อเพลิงขยะ หลอดแอลอีดี ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม อุปกรณ์ตรวจจับกระแสเหลือกระแสตรงที่ใช้สำหรับการประจุยานยนต์ไฟฟ้า และระบบเตือนพายุฝนฟ้าคะนอง-การป้องกันฟ้าผ่า เป็นต้น
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH