จำนองเครื่องจักร, กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.), สินเชื่อธุรกิจ SME, Soft Loan, ธนาคารกรุงไทย SME D Bank

ก.อุตฯ ผนึกเอกชน ดันโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนฯ โชว์ 9 เดือน อัดเงินทุนแล้วกว่า 2 แสนล้าน

อัปเดตล่าสุด 30 มิ.ย. 2565
  • Share :
  • 884 Reads   

ก.อุตฯ สั่งเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ดันโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนฯ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ โชว์ปี 2565 แค่ 9 เดือน อัดเงินทุนถึงมือผู้ประกอบการกว่า 2 แสนล้านแล้ว

วันที่ 29 มิถุนายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในโอกาสเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุนเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน” ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และ SME D Bank ว่าได้สั่งการให้กรมโรงงานฯ ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้เร่งจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานสามารถนำเครื่องจักรที่อยู่ในโรงงานมาใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อกับทางสถาบันการเงินได้ และนำเงินทุนที่ได้มาทำการปรับปรุงการประกอบการให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ทั้งในด้านประสิทธิภาพการผลิต ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับกลุ่มอุตสาหกรรม ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ (BCG Economy) ของรัฐบาล

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เสริมว่า โครงการนี้ทั้งสี่ฝ่ายจะร่วมมือกันในด้านการส่งเสริมผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านเครื่องจักร และจะมีการส่งเสริมสนับสนุนมาตรการทางการเงิน (Financial support) พิเศษต่าง ๆ ให้กับผู้ประกอบการ โดยที่ธนาคารกรุงไทย และ SME D Bank จะดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อพิเศษในรูปแบบต่าง ๆ เช่น สินเชื่อ Factoring สินเชื่อเพื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ฯลฯ เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่โรงงานเป็นหลัก

ด้านนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรจำนวน 1,113 ราย 5,606 เครื่อง มียอดจดจำนองเหลือเพียง 8 หมื่นล้าน และกระเตื้องขึ้นในปีงบประมาณ 2564 โดยมีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรจำนวน 992 ราย 6,197 เครื่อง และสามารถจดจำนองได้ถึง 1.7 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2565 มีการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักรจำนวน 771 ราย 3,417 เครื่อง และมีการจดจำนองไปแล้ว 2.04 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากลงนาม MOU กันในวันนี้แล้ว คาดว่าจะสามารถทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวก รวดเร็วขึ้น และจะมีการจดจำนองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจดียิ่งขึ้นต่อไป

“กระทรวงอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการโรงงานทั่วประเทศนำเครื่องจักรที่มีอยู่มาทำการการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร เพื่อเตรียมความพร้อมในการแปลงเป็นเงินทุน โดยโรงงานที่อยู่ใน กทม. สามารถติดต่อสอบถามได้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม โทร. 0 2430 6300 ส่วนโรงงานที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถยื่นจดทะเบียนหรือติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่โรงงานตั้งอยู่ หรือที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมด้วยก็ได้” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH