'พาณิชย์' ร่วม SME D Bank ปล่อยสินเชื่อดอกต่ำ วงเงิน 2-15 ล้านบาท เริ่มต้น 2% ต่อปี
ก.พาณิชย์ เร่งเครื่องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ประสาน SME D Bank ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ เสริมสภาพคล่องภาคธุรกิจ เบื้องต้นใช้แพ็กเกจเดิมที่ธนาคารมีอยู่ประยุกต์เข้ากับความต้องการสินเชื่อและความสามารถในการผ่อนชำระของเอสเอ็มอี วงเงิน 2 - 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 2% ต่อปี
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) มีความห่วงใยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเป็นอย่างมาก จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบริบทแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะดีขึ้น แต่หากลงลึกไปบางภาคเศรษฐกิจยังคงได้รับผลกระทบในระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงต่อผลประกอบการของภาคธุรกิจ โดยได้สั่งการให้เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งการสร้างความเข้มแข็งและการเสริมสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่สะดุด ช่วยลดผลกระทบทางการเงิน/บัญชี และกลับมาสร้างผลกำไรอีกครั้ง"
- SME D Bank ทุ่ม 1.5 หมื่นล้าน คลอดแพ็กเกจสินเชื่อ เติมทุน SMEs มีสุข ยิ้มได้ กู้ได้สูงถึง 15 ล้าน
- ออมสิน จัด 2 สินเชื่อ GSB Smooth BIZ - SMEs มีที่ มีเงิน ช่วยสมาชิกหอการค้า 1 แสนราย เข้าถึงแหล่งทุน
- SME D Bank หนุนเอสเอ็มอีไทยก้าวผ่านโควิด ขานรับนโยบายรัฐ พาเข้าถึง ‘สินเชื่อฟื้นฟู’ ดอกเบี้ยพิเศษ 2%ต่อปี
"ล่าสุด ได้ประสานธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank สานฝันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้นเพื่อเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจ โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในการส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อความรวดเร็วและทันต่อความต้องการด้านเงินทุนของผู้ประกอบการ SME D Bank จะใช้แพ็กเกจเดิมที่ธนาคารมีอยู่มาประยุกต์เข้ากับความต้องการวงเงินสินเชื่อและความสามารถในการผ่อนชำระของเอสเอ็มอี เช่น โครงการเติมทุนหนุนเอสเอ็มอีไทย , โครงการสินเชื่อเพื่อฟื้นฟู , โครงการเพิ่มศักยภาพ SME โครงการสร้างโอกาสเสริมสภาพคล่อง SME ฯลฯ เป็นต้น"
"ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ของ SME D Bank ได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด วงเงินสินเชื่อ 2 - 15 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้น 2% ต่อปี สามารถกู้ได้ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ และจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ และ SME D Bank ทางธนาคารยินดีพิจารณาการให้สินเชื่อที่รวดเร็วและผ่อนคลายมากขึ้น ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธนาคารจะช่วยประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพื่ออำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ"
ด้านนางกนกพร กาลปักษ์ รองผู้อำนวยการผู้จัดการเขต 17 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) กล่าวเสริมว่า "ธนาคารยินดีกับความร่วมมือที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างกระทรวงพาณิชย์ และ SME D Bank ทั้งนี้ ธนาคารมีวัตถุประสงค์ในการให้บริการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ด้านสินเชื่อหรือการร่วมลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการอยู่แล้ว ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงตรงตามวัตถุประสงค์ของธนาคารทุกประการ เบื้องต้น จะประสานกับหน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ คัดเลือกผู้ประกอบการในความส่งเสริมและต้องการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนเพิ่มเติม โดยจะเข้าไปนำเสนอรายละเอียดและเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง หรือ หากผู้ประกอบการต้องการขอคำปรึกษาการขอสินเชื่อก่อนดำเนินการ สามารถติดต่อได้ที่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) ทุกสาขาทั่วประเทศ ธนาคารยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอย่างเต็มที่"
"ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยเพื่อเสริมสภาพคล่องและเติมเงินทุนเข้าสู่ธุรกิจ ช่วยลดแรงกดดันในการประกอบธุรกิจได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ จะประสานความร่วมมือกับ SME D Bank อย่างใกล้ชิดเพื่อสร้างแพ็กเกจหรือโครงการสำหรับผู้ประกอบการในความส่งเสริมของกระทรวงฯ เป็นการเฉพาะ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแพ็กเกจของธนาคารได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ผลประกอบการเป็นไปในทิศทางที่เป็นบวกและดีขึ้นกว่าเดิม" นายธีระชาติฯ กล่าวทิ้งท้าย
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH