ส่งออกไทย-เกาหลีใต้ เมืองคยองกี, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

'พาณิชย์' นำ Mini-FTA เชื่อมการค้าไทย-เกาหลี ยึดหัวหาด "คยองกี เมืองเศรษฐกิจอันดับ 1" ดันสินค้า SME สู่ตลาดโลก

อัปเดตล่าสุด 29 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 1,230 Reads   

ดีเดย์ จุรินทร์ นำ Mini-FTA เชื่อมการค้าไทย-เกาหลี ยึดหัวหาด "คยองกี เมืองเศรษฐกิจอันดับ 1" ดันพัฒนาสินค้าเอสเอ็มอี สู่ตลาดโลก

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กับบริษัท Gyeonggi Business and Science Accelerator (GBSA) เมืองคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี พร้อมด้วยนายมุน ซึง-ฮยอน (H.E. Mr. Moon Seoung-Hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย นายกีรติ รัชโน รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ที่ ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ บางกอกคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์

นายจุรินทร์ กล่าวว่า การจัดทำ Mini-FTA ถือเป็นนโยบายที่ตนได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ สร้างความสัมพันธ์ในอีกรูปแบบทางการค้า การลงทุน นอกเหนือจากรูปแบบ FTA ปัจจุบันนี้ไทยมี FTA 14 ฉบับ กับ 18 ประเทศ  และ Mini-FTA เป็นนโยบายส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า ลดอุปสรรคและหาลู่ทางใหม่ในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้ลงนามทั้ง 2 ฝ่าย โดยปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์มี Mini-FTA กับเมืองและรัฐสำคัญในโลก 5 ฉบับ เริ่มที่ ไห่หนานของจีน รัฐเตลังคานาของอินเดีย เมืองโคฟุของญี่ปุ่น กานซู่ของจีน และปูซานของเกาหลี  ฉบับนี้ที่ทำกับ GBSA จะเป็นฉบับที่ 6 และกระทรวงพาณิชย์ยังมีเป้าหมายอีกหลายรัฐและหลายมณฑลทั่วโลกต่อไป

“เมืองคยองกีถือเป็นเมืองที่มีจีดีพีสูงที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ และเป็นซิลิคอนวัลเลย์ของเกาหลี มีการพัฒนาไอทีส่งเสริมเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม  Mini-FTA ไทย-คยองกี จะมีส่วนช่วยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของ 2 ประเทศ โดยเฉพาะช่วย SMEs ของทั้งสองประเทศต่อไป  มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับคยองกีปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง7 เดือนแรกของปี 2565 นี้ มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันระหว่างไทยกับคยองกี 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ Mini-FTA ระหว่าง 2 ฝ่ายในวันนี้นอกจากเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันแล้ว ประการสำคัญคือ จะร่วมกันพัฒนาสินค้าจากผู้ประกอบการ SMEs เพื่อขยายการค้า 2 ประเทศสู่ประเทศที่ 3 ต่อไป”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว

นายมุน ซึง-ฮยอน (H.E. Mr. Moon Seoung-Hyun) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตนได้อ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งน่าภูมิใจเป็นอย่างมาก และได้มีการเซ็น MOU กับเมืองปูซานด้วย ซึ่งพัฒนาการค้าระหว่าง 2 ประเทศเกิดผลอย่างมากมาย ตนเล็งเห็นว่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ ยังมีโอกาสอีกมากที่จะขยายและเติบโต จึงมีงานจัดจึงมีการจัดงาน G-FAIR KOREA 2022 (Korea Sourcing Fair in Bangkok) เกิดขึ้น ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศไทยและเกาหลีเติบโตไปด้วยกัน และจังหวัดคยองกีเป็นจุดศูนย์กลางของบริษัทใหญ่ๆทั้ง Samsung และบริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และมีการทำซอฟพาวเวอร์ พัฒนาเศรษฐกิจ จัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งสองประเทศร่วมกัน   และตนมีความประทับใจในโครงการ Mini-FTA เป็นพิเศษ ตนเห็นว่าเราสามารถปรับโครงการนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย-เกาหลีได้เป็นอย่างดี และมี RCEP อีก ซึ่งตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการนำแนวทาง Mini-FTA ร่วมกับ RCEP กระตุ้นเศรษฐกิจของสองประเทศไปร่วมกัน

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ความร่วมมือ Mini-FTA ไทย-คยองกี นับเป็น Mini-FTA ฉบับที่ 2 ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้จัดทำกับหน่วยงานท้องถิ่นของสาธารณรัฐเกาหลี ตามนโยบายของนายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปิดประตูการค้าด้วยสินค้า บริการ และซอฟพาวเวอร์ เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบุกตลาดสาธารณรัฐเกาหลี เร่งรัดสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าเชิงรุก เพื่อขยายการค้าของไทยไปยังตลาดโลกในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงและเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าทุกรูปแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยก้าวสู่การค้าสากลได้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยภายในงานมีนายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย และนายอี แก-ยอล (Mr. Lee Gae-Youl) Head of Global Trade Department and Executive Director, GBSA เป็นผู้ลงนามฝ่ายเกาหลี

โดยหน่วยงาน Gyeonggido Business & Science Accelerator หรือ GBSA จังหวัดคยองกี สาธารณรัฐเกาหลี เป็นหน่วยงานภายใต้รัฐบาลจังหวัดคยองกี เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจการค้าและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ของจังหวัดคยองกี

สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH