สสว.โชว์ผลสำเร็จ!! ผู้ประกอบการแห่ขึ้นทะเบียนจัดซื้อจ้างภาครัฐ กว่า 1 แสนราย รวมมูลค่ากว่า 5 แสนล้าน
สสว. โชว์ผลสำเร็จ ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียน “THAI SME-GP” เพื่อการจัดซื้อจ้างภาครัฐเกือบ 100,000 ราย เข้าถึงตลาดภาครัฐรวมมูลค่ากว่า 551,306 ล้าน มีรายการสินค้าและบริการในระบบพุ่งกว่า 661,492 รายการ สินค้า-บริการยอดฮิต คือ เครื่องจักร-อุปกรณ์ก่อสร้าง รับเหมาก่อสร้าง และวัสดุที่ใช้ในโรงพยาบาล และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์
- สสว. ชวน 'เอสเอ็มอี' ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 1.3 ล้านล้านบาท
- สสว.จับมือ อว. ชวน ผปก.- คู่ค้ากว่า 30,000 ราย ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP เข้าตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
- ดีพร้อม ชวน SMEs เข้าโครงการ “Made in Thailand” ขยายโอกาสการค้ากับภาครัฐ และเพิ่มสิทธิประโยชน์
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ร่วมกับ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เดินหน้ามาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 โดยเริ่มขับเคลื่อนอย่างเป็นทางการนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่ง สสว. ได้จัดทำระบบขึ้นทะเบียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaismegp.com และเปิดให้ผู้ประกอบการ SME ขึ้นทะเบียนเพื่อรับสิทธิประโยชน์ในตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวนับว่าประสบผลสำเร็จเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
จากข้อมูลการขึ้นทะเบียน SME ในระบบ THAI SME-GP จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2564) พบว่า SME ขึ้นทะเบียนแล้ว 96,871 ราย คาดว่าถึงสิ้นปี 2564 จะมีผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนเกินกว่า 100,000 ราย อย่างแน่นอน มีรายการสินค้าและบริการ ขึ้นทะเบียนมากกว่า 661,492 รายการ ซึ่งสินค้าและบริการขึ้นทะเบียนมากที่สุดในลำดับต้นๆ เช่น เครื่องใช้และอุปกรณ์สำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องตกแต่ง รับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม บริการด้านการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร ฯลฯ จังหวัดที่มี SME ขึ้นทะเบียนมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ นนทบุรี นครราชสีมา ปทุมธานี สงขลา ชลบุรี ขอนแก่น เชียงราย และสมุทรปราการ
“ที่สำคัญ จากตัวเลขของกรมบัญชีกลาง ถึง 31 สิงหาคม 2564 พบว่าผู้ประกอบการ SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. ได้รับการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐ คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 551,306 ล้านบาท กลุ่มงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมูลค่าสูง เช่น งานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์การก่อสร้างอาคาร งานรับเหมาก่อสร้าง ซ่อมแซม บำรุงรักษา ถนน/อาคาร วัสดุที่ใช้ในโรงพยาบาล และวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้า-คอมพิวเตอร์ วัสดุสำนักงาน เป็นต้น โดยหน่วยงานที่จัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดลำดับต้นๆ เช่น กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่กระจายรายได้ครอบคลุมทั่วประเทศ” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับหน่วยงานที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP มากที่สุด 20 อันดับแรก ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กองทัพบก การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กองทัพอากาศ การประปาส่วนภูมิภาค กองทัพเรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมการปกครอง กองบัญชาการกองทัพไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกรมพัฒนาที่ดิน
ทั้งนี้ จากสถิติการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลางในปี 2563 พบว่า สินค้าที่ภาครัฐนิยมซื้อในลำดับต้น ๆ มีตั้งแต่อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และงานเหมาบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำความสะอาด รักษาความปลอดภัย ดูแลต้นไม้-สนามหญ้า ขณะเดียวกันยังมีสินค้าที่เป็นโอกาสสำหรับ SME รายเล็ก ๆ เช่น อาหารสดและวัตถุดิบปรุงอาหาร ข้าวสาร ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว ถุงยังชีพ สมุนไพรนวดสปา จึงเห็นได้ว่าตลาดภาครัฐ สามารถสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในทุกขนาดธุรกิจ
มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นการกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการของ SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างรายการสินค้าหรือบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบ ขณะที่ SME จะได้รับสิทธิประโยชน์จากแนวทางการส่งเสริมใน 2 ลักษณะ คือ 1. ส่งเสริม SME ในเชิงพื้นที่ ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐเชิญ SME เจ้าของรายการสินค้าหรือบริการ ในพื้นที่ของหน่วยงานหรือพื้นที่ที่จะใช้พัสดุ ไม่น้อยกว่า 6 ราย เพื่อจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีคัดเลือก และ 2. ให้แต้มต่อด้านราคาไม่เกินร้อยละ 10 ในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Bidding และวิธีการคัดเลือก ที่ใช้เกณฑ์ราคาในการพิจารณา นอกจากนี้ SME จะได้รับประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ได้รับการพัฒนาจาก สสว. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานสินค้าหรือบริการ รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสธุรกิจให้ผู้ประกอบการ สสว. ได้ร่วมกับ สถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทยธนชาต เพื่อหาแนวทางการสนับสนุนเงินทุนสำหรับ SME เพื่อการเป็นคู่ค้ากับภาครัฐ ในรูปแบบเงินทุนระยะสั้นเสริมสภาพคล่อง หรือเงินทุนหมุนเวียนให้ผู้ประกอบการ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ บรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น
ในการนี้ สสว. วางเป้าหมายการพัฒนาระบบ THAI SME-GP สู่การเป็น SME Catalog ของประเทศ โดยมีแผนจะต่อยอดและขยายขีดความสามารถ จากระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ไปสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาคเอกชน (Corporate Procurement) และเตรียมเสนอสิทธิประโยชน์เพื่อเป็นมาตรการจูงใจภาคเอกชนและกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ ให้ร่วมสนับสนุน SME ในระบบ THAI SME-GP เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดของ SME ให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ปี 2564
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH