สสว. จับมือ TGO ติดอาวุธ SME ส่งออก ด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก
สสว. จับมือ TGO เสริมสร้างความรู้ด้านบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มุ่งพัฒนาขีดความสามารถให้เอสเอ็มอีกลุ่มส่งออกสินค้า 5 กลุ่มหลัก ทั้งเหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า ที่มีจำนวนกว่า 845 ราย มูลค่ารวมกว่า 3,155 ล้านบาท สามารถรักษาโอกาสทางการตลาดในยุโรป สหรัฐอเมริกา ให้มั่นคงและยั่งยืน
วันที่ 27 มกราคม 2565 นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG ให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน ตอบสนองนโยบายที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศไว้ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) จัดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อ พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
- จุดประเด็น “เลิกขายรถเครื่องยนต์สันดาปภายในปี 2040” ใครตอบรับบ้าง
- ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ ““พร้อมหรือไม่? กับเป้าหมาย Net Zero”
- สหรัฐฯ - อียู เร่งเครื่องความร่วมมือเหล็ก อะลูมิเนียม ยกเลิก ม.232
“สสว. ให้ความสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีความรู้ มีความพร้อมที่จะปรับตัวรับกับกำแพงภาษีในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะมาตรการที่สหภาพยุโรปจะเริ่มนำมาใช้ในปี 2566 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องแสดงปริมาณคาร์บอนในสินค้าที่จะส่งเข้าไปยังสหภาพยุโรป และจะจำกัดการนำเข้าสินค้าที่ก่อให้เกิดคาร์บอนอย่างจริงจังในปี 2569 ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการโดยตรง ด้วยเหตุนี้ สสว. จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ทำบันทึกตกลงความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มที่ส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป ที่มีจำนวนกว่า 1,697 ราย มูลค่ากว่า 12,958.17 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 864 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3,155.86 ล้านบาท ให้ยังคงรักษาโอกาสทางการแข่งขันไว้ได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” ผอ.สสว. กล่าว
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก. หรือ Thailand Greenhouse Gas Management Organization : TGO) จะมุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวและเข้าถึงการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของผลิตภัณฑ์ โดยมีผลบังคับกับ 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และบริการไฟฟ้า ซึ่งมีผู้ประกอบการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้รวม 1,697 ราย (ข้อมูล ณ ตุลาคม 2564) มูลค่าการส่งออก 12,958.17 ล้านบาท (392.91 ล้านเหรียญสหรัฐ) จำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการ SME รวม 864 ราย มูลค่าการส่งออก 3,155.86 ล้านบาท (95.69 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือประมาณ 24.35% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้ไปยังสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณา Supply Chain ในกลุ่มดังกล่าว พบว่า มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เกี่ยวข้องที่อาจจะได้รับผลกระทบกว่า 53,000 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท ปัจจุบันสินค้าที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ยานยนต์และส่วนประกอบ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ของเล่นและอุปกรณ์ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เครื่องแต่งกาย และของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่ใช้บริโภคได้
“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นหนึ่งในกลไกที่ สสว. จะเชื่อมสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ช่วยสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค สร้างกลไกทางการตลาดในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่พัฒนาสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความต้องการของผู้บริโภค สามารถเข้าถึงบริการผ่านระบบ BDS (Business Development Service) และสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามภารกิจของ สสว. เพื่อให้เกิดประโยชน์กับเอสเอ็มอีมากที่สุด” นายวีระพงศ์ กล่าว
นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO กล่าวว่า TGO เป็นองค์กรสนับสนุนหลักในการขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้ประเทศมุ่งสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กอปรกับประเทศไทยมีเป้าหมายไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero GHG ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งการจะไปสู่เป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นหน่วยธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุด และเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
“ความร่วมมือกับ สสว. ในครั้งนี้ มุ่งหวังเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าว อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ตลาดสีเขียว ตลาดคาร์บอน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว ฯลฯ ด้วยการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย” นายเกียรติชาย ระบุ
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH