สศก. เตรียมเปิดตัวโครงการ SAEZ ปั้น โมเดลเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม

เตรียมเปิดโครงการ SAEZ ปั้น โมเดลเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 811 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เตรียมเปิดตัวโครงการ Special Agricultural Economic Zone: SAEZ ปั้นโมเดลเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม ใช้โมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ในการศึกษาจัดทำพื้นที่และสินค้าสำคัญ

 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลได้วางแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ผลักดันและขับเคลื่อนบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร ตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง รวม 20 สินค้า (พืช 13 ชนิด และ ปศุสัตว์ 5 ชนิด และประมง 2 ชนิด)  แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาโดยตลอด นั่นเป็นเพราะว่า ยังขาดการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตของเขตเกษตรเศรษฐกิจ ขาดมาตรการจูงใจของเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้ สศก. ศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ โดย สศก. ได้เสนอโครงการศึกษาวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ” (Special Agricultural Economic Zone: SAEZ) ซึ่งจะเน้นการพัฒนาในเชิงพื้นที่ ทำให้สามารถลงลึกในรายละเอียดได้รวดเร็วกว่าการดำเนินงานปกติหรือการพัฒนาในเชิงภาพรวม นำไปสู่การให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ  และเกิดการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม  โดย สศก. จะดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รวมไปถึงการขอรับสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ที่เป็นหน่วยงานเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการและการต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน

สำหรับแนวทางในการศึกษา สศก. จะศึกษาตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้โมเดลต้นแบบจากพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor : EEC  ในการศึกษาและจัดทำโมเดลต้นแบบการพัฒนาเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษในพื้นที่และสินค้าที่สำคัญ  โดยจะมีการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน การบริหารจัดการแรงงาน และการให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จหรือ One Stop Service  นอกจากนี้ สศก. จะศึกษาถึงความเป็นไปได้ทางด้านการเงินและด้านเศรษฐศาสตร์อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้นจะกำหนดเป้าหมายสินค้าเกษตรเศรษฐกิจ อาทิ ข้าว ยางพารา และ มันสำปะหลัง  ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มศึกษาสินค้าข้าว อย่างข้าวหอมมะลิ เป็นชนิดแรก ในพื้นที่แหล่งผลิตสำคัญภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สร้างรายได้หลักให้ประเทศ มีคุณภาพ มีชื่อเสียง และมูลค่าการส่งออกสูง ส่งผลต่อรายได้เกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

“หากพิจารณาสถานการณ์การค้าของประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 - 2563) จะเห็นได้ว่า ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปยังตลาดโลก เฉลี่ยปีละ 7 - 8 ล้านล้านบาท  โดยเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ เฉลี่ยปีละ 6.5 - 7.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรสำคัญในเขตเกษตรเศรษฐกิจ เช่น ข้าว ยางพารา  มันสำปะหลัง และ ผลไม้   ดังนั้น เชื่อมั่นว่า โครงการ SAEZ  จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต ช่วยสร้างรายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ส่งเสริมผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ โครงการดังกล่าว อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สวก. ในการสนับสนุนทุนวิจัย และคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการโครงการได้ในเดือนเมษายน 2564” เลขาธิการ สศก. กล่าว