เคาะมาตรการ Green Tax Expense ลดหย่อนภาษี "พลาสติกที่ย่อยสลายได้" 1.25 เท่า
กระทรวงอุตฯ จับมือคลังปล่อยมาตรการกระตุ้นใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ลดภาษีเงินได้ 1.25 เท่า ส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หนุนเอกชนซื้อผลิตภัณฑ์ชีวภาพตามข้อกำหนดได้ยกเว้นภาษีปี 2562-2564
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เร่งขับคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy : เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมจึงได้ร่วมกับกระทรวงการคลังจัดทำมาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ซึ่งจะเป็นการนำรายจ่ายที่ผู้ประกอบการได้จ่ายไปในการซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปในขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ในระหว่างปี 2562-2564 โดยจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายตามประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดจากผู้ผลิตที่ได้รับใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ออกให้โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
ทั้งนี้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนจะมีการใช้เทคโนโลยียกระดับอุตสาหกรรมชีวภาพเพื่อสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว มุ่งลดการปล่อยมลภาวะและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สามารถตอบสนองต่อความต้องการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายตัวอยู่ทั่วโลก ขณะเดียวกันมีการคาดการณ์ว่า ผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปีของปริมาณการผลิตพลาสติกทั้งหมดจำนวน 431,800 ตันต่อปี
“มาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพจะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพภายใต้โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Economy ยกระดับนวัตกรรมให้สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการผู้บริโภคที่มีแนวโน้มขยายเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเป็นส่วนประกอบในเกือบทุกอุตสาหกรรมและมีความเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชน การผลักดันให้เกิดการใช้พลาสติกย่อยสลายได้อย่างแพร่หลายจะช่วยลดมลภาวะและของเสียในสังคม ช่วยสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและยกระดับสังคมให้น่าอยู่มากขึ้น ช่วยลดงบประมาณภาครัฐในการกำจัดขยะพลาสติกตกค้าง และเป็นการเพิ่มทางเลือกในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ทดแทนพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN” นายสุริยะ กล่าว
ด้านนายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า มาตรการ Green Tax Expense สำหรับพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ สศอ. จะออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพให้กับผู้ผลิตในประเทศที่จำหน่ายระหว่างปี 2562-2564 โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นผู้ซื้อคนแรกสามารถนำรายงานการซื้อสินค้า ใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่ม และใบรับรองผลิตภัณฑ์ฯ จาก สศอ. ยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวน 1.25 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ได้แก่ 1.ถุงหูหิ้ว 2.ถุงขยะ 3.แก้วพลาสติก 4.จาน ชาม ถาดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 5.ช้อน ส้อม มีดพลาสติก 6.หลอดพลาสติก 7.ถุงพลาสติกสำหรับเพาะชำ 8.ฟิล์มคลุมหน้าดิน 9.ขวดพลาสติก 10.ฝาแก้วน้ำ และ 11.ฟิล์มปิดฝาแก้ว
“หลักเกณฑ์การออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกดังกล่าว จะออกให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกฯ ที่จำหน่ายระหว่างปี 2562-2564 โดยต้องยื่นแบบฟอร์มการขอใบรับรองให้ สศอ. ตรวจสอบ ตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่งใน 4 ข้อ คือ 1.ผลิตภัณฑ์ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) 2.ผลิตภัณฑ์ได้รับรองมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่าในต่างประเทศ 3.ผลิตภัณฑ์มีใบรับรองทางห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง 4.ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตตามมาตรฐาน มอก. 17088 หรือ มาตรฐานเทียบเท่า และสำเนาผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ในรายการผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรองเม็ดพลาสติกที่ใช้ผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 17088 หรือ มาตรฐานเทียบเท่าและสำเนาผลการทดสอบองค์ประกอบผลิตภัณฑ์ (FTIR)” นายทองชัย กล่าว
อ่านต่อ: