NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดันอารีเทคสตาร์ทอัพ (ARI-Tech Startup)

NIA จับมือ AIEAT ดันอารีเทคสตาร์ทอัพ พลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ย. 2565
  • Share :
  • 1,070 Reads   

NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดันอารีเทคสตาร์ทอัพ (ARI-Tech Startup) ขยายตลาดสู่การเติบโตเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมมือกับ สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย หรือ AIEAT ดำเนินโครงการส่งเสริมสตาร์ทอัพด้านปัญญาประดิษฐ์-หุ่นยนต์-เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงและไอโอที สู่การขยายตลาด หรือ ARI-Tech Startup Connext โดยเชื่อมต่อของเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสตาร์ทอัพด้านอารีเทคกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สร้างโอกาสในตลาดใหม่ๆ เกิดเป็นระบบนิเวศที่สนับสนุนและผลักดันการเติบโตของสตาร์ทอัพสายดีพเทค เพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย

Advertisement

วันที่ 23 กันยายน 2565 นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสตาร์ทอัพรายสาขาเพื่อสร้างความเข้มแข็ง (Strong Sectoral Innovation System, SIS) ให้กับประเทศ โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech Startup) ซึ่งสตาร์ทอัพด้านอารีเทค ได้แก่ 1) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) 2) หุ่นยนต์ (Robotics) 3) เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง และไอโอที (Immersive, IoT) เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการพัฒนาให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และเกิดการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นพื้นฐานเทคโนโลยีสำคัญ ที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดรูปแบบธุรกิจที่เกิดมูลค่าได้อย่างมหาศาล เห็นได้จากการรวบรวม 100 สตาร์ทอัพด้าน AI ของ CB Insight ในปี 2021 มีการใช้ AI เกิดการขับเคลื่อนไปในหลากหลายอุตสาหกรรมทั้งในวงกว้างและเชิงลึกที่มีการขยายตัวสูงมาก เกิดการระดมทุนในปี 2021 มากกว่า 351 พันล้านบาท รวมไปถึงการพัฒนาด้านหุ่นยนต์ เทคโนโลยีเสมือนจริง ที่หลายประเทศมีเป้าหมายในการพัฒนาและได้รับการระดมสูงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดันอารีเทคสตาร์ทอัพ (ARI-Tech Startup), ปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เอ็นไอเอ

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม เอ็นไอเอ

ดังนั้น NIA ในฐานะหน่วยงานอำนวยความสะดวกทางนวัตกรรม (Focal facilitator) จึงเร่งพัฒนาการเติบโตของสตาร์ทอัพด้านอารีเทค ให้มีการใช้งานตอบโจทย์ได้อย่างหลากหลาย ดังเช่นโครงการ ARI-Tech Startup Connext นี้ ด้วยการสร้างสะพานเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพได้จับคู่และทำงานจริงร่วมกับบริษัท/หน่วยงาน ให้เกิดความเข้าใจของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกให้เกิดการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ที่จะทำให้สามารถขยายตลาดให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งตลาดในประเทศและตลาดโลก ตลอดจนสร้างโอกาสให้ได้รับการต่อยอดทางธุรกิจร่วมกันและสตาร์ทอัพมีการขยายสู่ตลาดได้เพิ่มมากขึ้นได้

ดร.ชาญวิทย์  บุญช่วย อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการได้คัดเลือก 15 สตาร์ทอัพด้านอารีเทคที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมพร้อมใช้งานต่อยอดธุรกิจนั้น โดยได้เสริมศักยภาพสตาร์ทอัพให้มีความพร้อมที่จะขยายตลาด การเข้าใจกลุ่มลูกค้า ผ่านการเรียนรู้จากสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ มาถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมทั้งข้อคิดและคำแนะนำในการปรับกลยุทธ์ให้สามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว ที่ต้องสร้างความเข้าในการนำเทคโนโลยีเชิงลึกไปประยุกต์ใช้งานและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้ 15 อารีเทคสตาร์ทอัพที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ดังนี้

- ด้านการแพทย์ และสุขภาพ ได้แก่ 1) Brain Dynamics : เทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลสำหรับโรคจากการหลับ 2) Joey - AI Doctor : วิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพด้วย AI ลดเวลาการทำงานจาก 30 วัน เหลือเพียง 1 วัน เชื่อมต่อโปรแกรมตรวจสุขภาพ และติดตามรูปแบบของโรคเพื่อการป้องกันและรักษาที่ดีที่สุด 3) Perceptra : การใช้งานปัญญาประดิษฐ์ช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคจากภาพถ่ายรังสีทรวงอกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และ 4) POPMED : การให้คำแนะนำแบบเฉพาะบุคคล เพื่อช่วยให้ผู้ใช้เรียนรู้พฤติกรรมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายของตัวเองและปรับปรุงเพื่อสุขภาพที่ดี

- ด้านแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 5) Crest Kernel : แพลตฟอร์มรักษาความปลอดภัยด้วยระบบ AI ประมวลผลภาพจากกล้องวงจรปิด เพื่อลดความผิดพลาดและทดแทนแรงงาน 6) Dynamic Intelligence Asia (dIA) : ระบบตรวจจับใบหน้า พร้อมบันทึกเวลาการเข้าออกออฟฟิตด้วย AI อัจฉริยะผ่านกล้องวงจรปิด 7) MUI Robotics : จมูกอิเล็กทรอนิกส์แปลงกลิ่นเป็นข้อมูลนำไปใช้ในได้อย่างหลากหลายการใช้งาน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร สัญญาณเตือนภัยจากกลิ่น 8) TIE Smart Solutions : แพลตฟอร์มการวินิจฉัยการประหยัดพลังงานสำหรับระบบอาคาร ติดตั้งได้ง่าย สะดวก ประกันการประหยัดพลังงานลงอย่างต่ำร้อยละ 15 และ 9) WeMove Platform : ระบบจัดจ้างรถขนส่งออนไลน์ ที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มคุณภาพการบริการ และช่วยลดต้นทุนงานขนส่ง

- ด้านการศึกษา และฝึกอบรม ได้แก่ 10) Blue Ocean Technology : แพลตฟอร์มจำลองการฝึกเสมือนจริง ส่งมอบประสบการณ์การฝึกปฎิบัติงาน (OJT) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่และ 11) EasyKids Robotics : ชุดหุ่นยนต์เพื่อการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมฝึกทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ 3 ภาษาคอมพิวเตอ์ 3 ระดับ ในหุ่นยนต์ชุดเดียว

- ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ได้แก่ 12) LightWork : แพลตฟอร์มที่ผสานเทคโนโลยี Robotic Process Automation และ AI เพื่อสร้างโปรแกรมหุ่นยนต์ผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดเวลาการทำงาน นำไปใช้ได้หลากหลายแผนก และอุตสาหกรรม 13) ManaWork : แพลตฟอร์มเพิ่มประสิทธิภาพ WFH ด้วยเทคโนโลยี AI เพื่อเชื่อมต่อให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ข้อมูล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเป็นระบบ 14) Vulcan : สร้างอาชีพให้ผู้พิการทำงานยุคใหม่เป็น ‘AI Trainer’ เพื่อพัฒนาโมเดล AI หรือจัดทำข้อมูลเฉพาะ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้บริษัทจ้างงานผู้พิการตามกฎหมาย 15) WE Assess : ระบบสัมภาษณ์งานออนไลน์ พร้อม AI ช่วยวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของผู้สมัครงาน ที่ช่วยลดเวลากว่าร้อยละ 50

NIA จับมือ AIEAT สร้างโอกาสดันอารีเทคสตาร์ทอัพ (ARI-Tech Startup)

ส่วนสำคัญของการดำเนินโครงการ คือ การสร้างเวทีให้สตาร์ทอัพได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้รับการตอบรับจากบริษัทชั้นนำของประเทศเข้าร่วมงานและแสดงความสนใจพูดคุยกันในรายละเอียดกันเพิ่มเติม โดยมุ่งหวังให้เกิดการจับคู่ธุรกิจ และเกิดลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้จริง นับได้ว่าเป็นการสร้างโอกาสที่จะขยายตลาดให้เกิดการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ อีกด้านหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมภาคธุรกิจ หรือหน่วยงานภาครัฐ ก็ได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่นจากฝีมือสตาร์ทอัพของไทย นับได้ว่าจะช่วยสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่เอื้อต่อการเติบโตไปด้วยกัน ดังเห็นได้จากข้อคิดเห็นของสตาร์ทอัพที่ได้เข้าร่วมโครงการ

“Joey – AI Doctor ... เป็นโครงการที่ดีมากครับ เราได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมถึงมีวิทยากรจากบริษัทใหญ่ๆต่างๆมาคอยแชร์แนวคิดแชร์ไอเดียเพื่อทำให้ธุรกิจของเราสามารถต่อยอดไปในทางที่ดีได้ครับ”

“LightWork ... สิ่งที่ประทับใจโครงการที่สุดคือ Network ที่ทางโครงการ ARI-Tech ช่วยแผ่ขยายมาให้เรา บริษัทหรือหน่วยงานหลายๆ แห่ง ตัวเราเข้าไม่ถึง แต่เพราะเป็นทาง NIA และ สมาคม AIEAT เปิดเวที เค้าจึงได้เข้าร่วมทำความรู้จัก Startup นอกจากเรื่อง Business Matching เราก็ได้ Network of friends ได้รู้จักเพื่อนๆ ใน Startup สายงานไกล้เคียงกันมากขึ้น ได้เกื้อหนุนกัน ได้เรียนรู้จากกันและกัน ทั้งจาก Startup ที่เป็นผู้เข้าร่วม และมาเป็นวิทยากร ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งความรู้ และได้ลูกค้ากลับไปค่ะ”

“Vulcan ...  ดีใจที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการกับ ARI-Tech ค่ะ ทางโครงการมีความตั้งใจอย่างมากในการช่วยให้สตาร์ทอัพ ได้ต่อยอดขยายธุรกิจกับบริษัทชั้นนำ ตลอดทั้งโครงการมีการจับคู่กับ mentor ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก ได้รับคำแนะนำไปต่อยอด/ปรับปรุงเยอะมาก รวมถึงได้รับโอกาสในการนำเสนอ solutions ต่อองค์กรชั้นนำหลายบริษัท และได้จับคู่กับองค์กรที่เป็นกลุ่มเป้าหมายในการใช้ solutions ของเราด้วย ขอบคุณทางโครงการมากๆเลยค่ะ”

ดร.ชาญวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในอนาคตสตาร์ทอัพด้านอารีเทคจะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับนวัตกรรมของประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือ เวทีแห่งโอกาสที่ให้เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไทยได้แสดงฝีมือ ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่พร้อมเปิดรับการใช้งานของสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย สุดท้ายนี้จึงขอฝากไว้ว่า ถ้าหน่วยงานหรือองค์กรใดที่มีสนใจการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ สามารถแจ้งติดต่อมาที่ NIA และ AIEAT ที่พร้อมเป็นสะพานเชื่อมประสานให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือเกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน”

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH