รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 7/2564 รถไฟความเร็วสูงฯ อู่ตะเภา มาบตาพุด-แหลมฉบัง

รายงานความก้าวหน้าโครงการ EEC ในการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารฯ (กบอ.) ครั้งที่ 7/2564

อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 1,231 Reads   

♦ 4 โครงสร้างพื้นฐาน EEC รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง เดินหน้า ใช้เงินไทย ใช้คนไทย ใช้บริษัทไทย รัฐได้ผลตอบแทน 2 แสนล้าน

♦ EECi ก้าวหน้าครบมิติ เตรียมเปิดทางการรับประชุมผู้นำเอเปก ประกาศความพร้อมดึงนักลงทุนทั่วโลก

♦ อีอีซีเดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีต่อเนื่อง ไทยก้าวสู่ประตูการค้า ศูนย์กลางลงทุนแห่งภูมิภาค

Advertisement

วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2564 ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 7/2564 ในรูปแบบออนไลน์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้า การดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ความสำเร็จอีอีซี 4 โครงสร้างพื้นฐานเดินหน้า ใช้เงินไทย ใช้คนไทย ใช้บริษัทไทย รัฐได้ผลตอบแทน 2 แสนล้าน

ที่ประชุม กบอ. รับทราบ การขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุนรัฐ-เอกชน (PPP) ที่อีอีซี ได้ผลักดันการเซ็นสัญญาครบทั้ง 4 โครงการ (รถไฟความเร็วสูงฯ สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและแหลมฉบัง) มูลค่าลงทุนรวมสูงถึง 654,921 ล้านบาท ลงทุุนภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท (ร้อยละ 64) ลงทุนภาครัฐ 238,841 ล้านบาท (ร้อยละ 36)  โดยภาคเอกชนจะให้ผลตอบแทนภาครัฐ 440,193 ล้านบาท  และรัฐได้ผลตอบแทนสุุทธิ 210,352 ล้านบาท  ถือเป็นประวัติศาสตร์ความสำเร็จครั้งสำคัญของประเทศและอีอีซี  ที่ได้ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เกิดประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

โดยความสำเร็จนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ ถึงการสร้างนวัตกรรม เพื่อการลงทุุนของประเทศภายใต้หลักคิด ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การพึ่งพาตนเองพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต รัฐได้ประหยัดงบประมาณโดยร่วมมือกับเอกชนไทย ใช้เงินไทยและบริษัทไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงานให้คนไทย สร้างผลตอบแทนภาครัฐ รวมทั้งเผชิญความเสี่ยงกับรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกำลัง ก้าวสู่การสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันทั้งประเทศ รัฐ-เอกชน และประชาชน ให้แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน

สำหรับการลงทุนช่วง 6 เดือนที่ผ่าน (ม.ค.-มิ.ย. 64) มีการขอรับส่งเสริมลงทุน 232 โครงการ เงินลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 53 (จากช่วงเดียวกันปี 63) การอนุมัติส่งเสริมลงทุน 195 โครงการ เงินลงทุน 74,250 ล้านบาท และออกบัตรส่งเสริม 187 โครงการ เงินลงทุน 88,083 ล้านบาท โดยจำนวนขอโครงการสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็นร้อยละ 64ของคำขอลงทุนในอีอีซี ซึ่งนักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ

2. EECi ก้าวหน้าครบมิติ เตรียมเปิดทางการรับประชุมผู้นำเอเปก ประกาศความพร้อมดึงนักลงทุนทั่วโลก

ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ที่การดำเนินงานเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ได้ประสบผลสำเร็จต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม สนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 พัฒนาเกษตรสมัยใหม่ กลุ่ม SMEs และความพร้อมพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัยเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย
 
โดยภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ เมืองนวัตกรรมชีวภาพ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ อิเลคทรอนิกส์อัจฉริยะ เมืองนวัตกรรมการบินและอวกาศ เมืองนวัตกรรมอาหาร รวมทั้งการก่อสร้างกลุ่มอาคาร  โรงงานต้นแบบนวัตกรรมขั้นสูงต่างๆ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของ EECi  ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการ ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะเป็นการประกาศความพร้อมสนับสนุนการดึงดูดการลงทุนฐานนวัตกรรมขั้นสูง และจูงใจนักลงทุนทั่วโลกเข้าสู่พื้นที่ อีอีซี

3. ศูนย์จีโนมิกส์ เสริมแกร่งยกระดับสาธารณสุข คนไทยเข้าถึงรักษาโรคแม่นยำ หายป่วยง่าย สุขภาพดีทั่วหน้า

ที่ประชุม กบอ. รับทราบความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่ อีอีซี ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง
 
โดยปัจจุบัน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสกพอ. ได้ลงนามในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการไม่ป่วยหนัก และมีสุขภาพดีทั่วหน้าต่อไปในอนาคต

4. เดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานอีอีซีต่อเนื่อง ไทยก้าวสู่ประตูการค้า ศูนย์กลางลงทุนแห่งภูมิภาค​

ที่ประชุม กบอ. พิจารณา (ร่าง) แผนปฏิบัติการโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2566 – 2570 ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มีเป้าหมายให้ไทยก้าวสู่ประตูการค้า การลงทุน ศูนย์กลางคมนาคมโลจิสติกส์ของภูมิภาค เน้นสร้างความร่วมมือกลุ่มประเทศ CLMVT และจีนตอนใต้ รวมทั้งรองรับการเติบโตของอีอีซีในอนาคต เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางราง ทางน้ำ เชื่อมต่อขนส่งสาธารณะระบบรางจากสถานีรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภาฯ เชื่อมกับเมืองใหม่ และแหล่งท่องเที่ยว เพิ่มความสะดวกสบายให้ประชาชนในการเดินทาง  เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความเข้มแข็ง
 
มีกรอบการพัฒนา ได้แก่ 1) พัฒนาและส่งเสริมการขนส่งสินค้าระบบรางและทางน้ำเป็นระบบหลัก 2) ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 3) เชื่อมต่อโครงข่ายถนน ปรับปรุงช่วงถนนคอขวดแก้ปัญหาจราจรหลักในอีอีซี 4) พัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ นิคมอุตสาหกรรม เมืองที่จะพัฒนาในอนาคต และ 5)ใช้เทคโนโลยีและระบบอัจฉริยะจัดการจราจรและการขนส่ง  ซึ่งจะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถระบบรางและทางน้ำเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบอื่น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้า ยกระดับโครงข่ายคมนาคมรองรับการเดินทางประชาชนอย่างไร้รอยต่อ เพิ่มสัดส่วนการเดินทางระบบสาธารณะส่งเสริมท่องเที่ยวทางรางและทางน้ำเข้าถึงพื้นที่หลักในอีอีซีและยกระดับโครงข่ายคมนาคมด้วยมาตรการเชิงรุกและเทคโนโลยีสมัยใหม่

โดยระหว่าง ปี 2566 - 2570 ช่วงการก่อสร้างจะเกิดการจ้างงานประมาณ 20,000 ตำแหน่ง/ปี และปี 2571 – 2580 ประมาณ 12,000 ตำแหน่ง/ปี เดินทางสะดวกรวดเร็วขึ้น ลดความสูญเสียจากความล่าช้าการเดินทางประมาณ 10.75 ล้านบาท/วัน หรือ 3,900 ล้าน/ปี ลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ 5% (ความสูญเสียลดลง 100 ล้านบาท/ปี)  ยกระดับชีวิตด้วยระบบขนส่งที่ทันสมัย เชื่อมการเดินทางแบบไร้รอยต่อ เดินทางจากกรุงเทพฯ ถึง ระยอง ภายใน 1 ชั่วโมง ลดมลภาวะในสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพถนนในพื้นที่ จากความเร็ว 65 กม./ชม. เป็น 70 กม./ชม. มีเส้นทางรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น 275 กม. ปรับปรุงการก่อสร้างถนนและขยายช่องทางมากถึง 25 เส้นทางภายในปี 2570
 
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH