กนอ. สั่งนิคมฯ ทั่วประเทศ ตั้งการ์ดสูงเข้มความปลอดภัย รง.ตามมาตรฐาน PSM

กนอ. ย้ำ นิคมฯ ทั่วประเทศ ตั้งการ์ดสูง เข้มความปลอดภัย รง.ตามมาตรฐาน PSM

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ค. 2564
  • Share :

“ผู้ว่าการ กนอ.” สั่งกำชับทุกนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยภายในนิคมอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน “การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต” (Process Safety Management : PSM) หลังในช่วงที่ผ่านมาเกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานในนิคมฯลาดกระบัง หวังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และชุมชน เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน!

วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงาน บริษัท ฟลอรอลแมนูแฟคเจอริ่งกรุ๊ป ภายในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จึงได้สั่งกำชับไปยังนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศทั้ง 65 แห่ง ให้เพิ่มความเข้มงวดด้านการป้องกันและเฝ้าระวังความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากกระบวนการผลิตที่มีการใช้สารเคมีอันตรายร้ายแรง ตามมาตรฐาน“การจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต” (Process Safety Management : PSM) ที่เน้นมาตรการจัดการและพื้นฐานด้านวิศวกรรมในการชี้บ่ง ประเมิน และควบคุมอันตรายจากกระบวนการผลิต รวมถึงการจัดเก็บ การออกแบบ การใช้การผลิต การบำรุงรักษา การตรวจสอบ การทดสอบ และการขนส่ง หรือเคลื่อนย้ายสารเคมีอันตรายร้ายแรงในเขตนิคมอุตสาหกรรม


วีริศ อัมระปาล

กนอ.ได้วางมาตรการบริหารจัดการและส่งเสริมผู้ประกอบการในการลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งออกข้อบังคับคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 (ข้อบังคับฯ PSM)และที่แก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลบังคับใช้กับโรงงานที่เข้าข่าย PSM ในนิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ข้อบังคับฯ PSM ดังกล่าวเกี่ยวกับมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต (Process Safety Management : PSM) และการตรวจประเมินความปลอดภัยกระบวนการผลิตในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งกำหนดให้โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่มีกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตรายร้ายแรง (Highly Hazardous Chemicals) ในปริมาณครอบครองเท่ากับหรือมากกว่าปริมาณที่กำหนดในบัญชีท้ายข้อบังคับ หรือมีปริมาณครอบครองของเหลวไวไฟหรือก๊าซไวไฟตั้งแต่ 4,545 กิโลกรัม (10,000 ปอนด์) ขึ้นไป ต้องดำเนินการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต และตรวจประเมินภายในทุก 1 ปีปฏิทิน โดยทีมผู้ตรวจประเมินภายในของสถานประกอบการ และรับการตรวจประเมินภายนอกทุก 3 ปีปฏิทิน โดยทีมผู้ตรวจประเมินภายนอกที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กนอ.  

“กนอ.กำกับดูแลนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีโรงงานเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการ 12 ประเภท  โดยจัดทำแผนสุ่มตรวจโรงงานเพื่อตรวจติดตามการปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการความเสี่ยงของโรงงาน โดยกนอ.จะสั่งการให้โรงงานปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วนหากตรวจพบกิจกรรมที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ/อุบัติภัยขึ้น” นายวีริศ กล่าว

นอกจากนี้ กนอ. ได้มีมาตรการป้องกันการเกิดอัคคีภัยจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยสนับสนุนให้ทุกโรงงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการระงับอัคคีภัย เช่น ออกหนังสือแจ้งสถานประกอบการในการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัย/อุบัติภัยในช่วงวันหยุดยาว พร้อมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เป็นต้น โดยล่าสุด ผู้ว่าการ กนอ.ได้สั่งการให้ทบทวนคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแผนฉุกเฉินของนิคมอุตสาหกรรมให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และเพื่อปรับปรุงและยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

 

#นิคมอุตสาหกรรม #ท่าเรืออุตสาหกรรม #โรงงาน #โรงงานอุตสาหกรรม #สถานประกอบการ #การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #กนอ. #มาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิต #Process Safety Management #PSM #ไฟไหม้โรงงานลาดกระบัง #นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง #สารเคมีอันตราย 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH