ญี่ปุ่นลงทุนในไทย EEC

ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง ดึงนักลงทุนญี่ปุ่น ยกระดับการลงทุนในพื้นที่ EEC

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ค. 2565
  • Share :
  • 681 Reads   

ธนาคาร SMBC ลงนามความร่วมมือ MOU เดินหน้าชวนนักลงทุนญี่ปุ่น ยกระดับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ต่อยอดจากปี 2564 ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นได้รับการออกบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ 19,445 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตร 3,240 ล้านบาท ซึ่งเป็นนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย

วันที่ 27 ก.ค.2565 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี และธนาคาร ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น หรือ SMBC ร่วมกันลงนามบันทึกเข้าใจ (MOU) สร้างความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากนักลงทุนเป้าหมายสัญชาติญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี และ Mr. Takashi Toyoda, Country Head of Thailand and General Manager, SMBC (Bangkok) ลงนามร่วมกัน ณ ห้องประชุม Conference Room สำนักงานอีอีซี และได้รับเกียรติจาก Mr. Takuro Tasaka, Minister and Chief of Economic Division Embassy of Japan นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ที่ปรึกษาพิเศษด้านการต่างประเทศ อีอีซี พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง และเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงาน เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวถึง การร่วมลงนาม MOU ครั้งนี้ ว่า เป็นการต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยในปีนี้ครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต และครบรอบ 10 ปี ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ร่วมกัน ซึ่งธนาคาร SMBC เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีเครือข่ายนักลงทุนมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น และมีการขยายสาขาเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2495 โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสองหน่วยงานครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่เกิดขึ้นในโอกาสพิเศษที่ธนาคาร SMBC ครบรอบ 70 ปี การให้บริการในประเทศไทย ในด้านความร่วมมือระหว่างอีอีซีและ ธนาคาร SMBC เป็นพันธมิตรสำคัญ ตั้งแต่ปี 2562  

สำหรับสถานการณ์การลงทุนญี่ปุ่นในพื้นที่อีอีซี ในปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดการลงทุนจากนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับการออกบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ มูลค่ารวมถึง 19,445 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปี 2565 มีมูลค่าการออกบัตรจากนักลงทุนญี่ปุ่น รวมสูงถึง 3,240 ล้านบาท ถือเป็นอันดับ 1 ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมและศักยภาพในพื้นที่อีอีซี ที่เกิดความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล 5G และการพัฒนาบุคลากรอย่างเป็นรูปธรรม ที่ได้สร้างความมั่นใจการเข้าลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่น เพิ่มการลงทุนในพื้นที่อีอีซีต่อเนื่อง

เลขาธิการ สกพอ. ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ที่ทั้งสองฝ่ายต้องร่วมมือกันฟื้นฟูภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศจากสถานการณ์โควิท 19 ผ่านกลไกความร่วมมือที่สนับสนุนในเกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และสานต่อการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานการผลิตและส่งออกที่สำคัญของนักลงทุนญี่ปุ่นในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคาร  SMBC ในครั้งนี้ จะเป็นการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผลักดันให้เกิดการร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและภาคเอกชนญี่ปุ่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและภาคการผลิต ผ่านกลไกการส่งเสริมการลงทุน การอำนวยความสะดวกให้กับภาคเอกชนญี่ปุ่นเพื่อลงทุนในพื้นที่อีอีซี สอคคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่น ตามข้อริเริ่ม Asia-Japan Investing for the Future (AJIF) ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ในอนาคต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH