Carbon Neutrality ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

กนอ.ร่วมทุน “PRIME” ผุดบริษัทฯ พร้อมลุยพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน

อัปเดตล่าสุด 23 มิ.ย. 2565
  • Share :

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนามสัญญาร่วมทุนบริษัทวิศวกรรมพลังงาน (ด้านพลังงานทดแทนและ การอนุรักษ์พลังงาน) มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน สอดคล้องนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) หนุนนโยบายรัฐด้านแผนการพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยภายหลังลงนามในสัญญาโครงการร่วมลงทุนโดยการถือหุ้นบริษัทวิศวกรรมพลังงาน (ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน) ระหว่าง กนอ. และบริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ว่า การลงนามในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันผลักดันการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานโดยใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ

โดย กนอ.กำหนดแนวทางเพิ่มค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ได้ 2.5 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ภายใน 5 ปี (2564-2568) หรือปีละ 500,000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) ซึ่งจะนำไปสู่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในรูปของก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางการเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Estate) และสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซี่งมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่พลังงานสะอาด และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และ Net Zero Emission Carbon ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)  

“ความร่วมมือครั้งนี้ขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ “บริษัท ไพร์ม อินดัสเทรียล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด” ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) ในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของเครื่องจักร วัสดุ และอุปกรณ์ด้านพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการยกระดับการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงาน รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศ”นายวีริศ กล่าว 

นายสมประสงค์ ปัญจะลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพร์ม โรด เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PRIME กล่าวว่า PRIME เป็นบริษัทชั้นนำด้านการลงทุนในประเทศไทยที่มีความสนใจเป็นพิเศษในด้านพลังงานทดแทน โดยให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง PRIME มีความเชี่ยวชาญในด้านการก่อสร้าง การลงทุน การเงิน การธนาคาร การให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์แก่ภาคเอกชน ด้านกฎหมาย และพลังงาน ขณะเดียวกัน PRIME มีประสบการณ์พัฒนาโครงการเรื่องพลังงานทดแทนมากกว่า 10 ปี ในหลายประเทศ และมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ 5 ของ กนอ. ในการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแผนการสร้างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

“PRIME จะเน้นลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในนิคมอุตสาหกรรม เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนอาคารสำนักงานนิคมอุตสาหกรรม การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและของเสียอุตสาหกรรมกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ สนับสนุนให้โรงงานเก็บสถิติก๊าซเรือนกระจกเบื้องต้น และขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (CFO) เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”นายสมประสงค์ กล่าว

สำหรับบริษัทฯ ที่ตั้งใหม่เพื่อดำเนินธุรกิจวิศวกรรมพลังงาน มีทุนจดทะเบียนตั้งต้นที่ 100 ล้านบาท โดย กนอ.เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 25 ของทุนจดทะเบียน และผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ถือหุ้นในอัตราส่วนร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียน โดยจะเน้นภารกิจด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การออกแบบโครงการ การเสนอโครงการ การขออนุญาตก่อนก่อสร้าง (ถ้ามี) การบริหารโครงการ การออกแบบทางวิศวกรรม วิเคราะห์การใช้พลังงาน ติดตั้งอุปกรณ์และดำเนินงานสำหรับโครงการอนุรักษ์พลังงานหรือพลังงานทดแทน การจัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการด้านพลังงาน การติดตั้ง ตลอดจนการตรวจวัดเพื่อพิสูจน์ผลประหยัด

ทั้งนี้ การดำเนินงานของบริษัทฯ ทั้งด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ประกอบด้วย 2 บริการ ได้แก่ 1) ด้านวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง เป็นการให้บริการในลักษณะการออกแบบวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการก่อสร้างโรงงานแบบครบวงจร (Integrated  EPC) ให้กับลูกค้า ซึ่งสามารถแบ่งส่วนของงานได้เป็น 3 ลักษณะ คือ งานออกแบบวิศวกรรม (Engineering) งานจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ (Procurement) และงานก่อสร้าง (Construction) และ 2) ด้านโครงการอนุรักษ์พลังงานหรือพลังงานทดแทน จะมีรูปแบบการบริการ 3 แบบ คือ การรับประกันผลประหยัด (Guaranteed Saving) การแบ่งปันผลประหยัด (Shared Saving) และการประกันส่วนต่างค่าพลังงาน (Guaranteed Rebate/Chauffage)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH