มาตรการกระตุ้นใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ อุตสาหกรรมชีวภาพไทย ไบโอฮับอาเซียน

เล็ง ต่อเวลา Green Tax Expense พร้อมดัน อุตฯ ชีวภาพไทย ขึ้น ไบโอฮับอาเซียน

อัปเดตล่าสุด 24 ส.ค. 2564
  • Share :

ก.อุตฯ ชง ขยายเวลา Green Tax Expense ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 1.25 เท่า พร้อมปรับปรุงกฎระเบียบเอื้อลงทุน และการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ รับ BCG Model หวังขึ้น Bio Hub of ASEAN 

วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ครม. (17 ส.ค. 2564) มีมติรับทราบข้อมูลความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี 2561-2570 โดย อก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ซึ่งเป็นหนึ่งในโมเดลเศรษฐกิจใหม่  BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล

โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคระยะห่างการตั้งโรงงาน 50 กิโลเมตร โดยให้โรงงานอื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบ เช่น โรงงานเอทานอล โรงงานเคมีชีวภาพสามารถตั้งในบริเวณใกล้กับโรงงานน้ำตาลเดิมได้ การแก้ไขเพิ่มประเภทโรงงานอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ 3 ประเภท ได้แก่ การทำเคมีภัณฑ์จากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องด้วยกระบวนการเคมีชีวภาพ การผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และการผลิตพลาสติกชีวภาพจากเคมีภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรหรือผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องรวมกับวัตถุดิบจากปิโตรเลียมและทำให้สลายตัวได้ทางชีวภาพ

การเพิ่มประเภทโรงงานดังกล่าวจะช่วยให้การกำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงานหลักที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังรวมถึงการออกมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในพื้นที่จังหวัดที่มีศักยภาพ เช่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดลพบุรี เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศ

นายสุริยะฯ กล่าวเพิ่มเติมว่าถึงแม้บางโครงการต้องเผชิญปัญหาอุปสรรคจากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19  ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างโรงงานได้ตามแผนที่วางไว้ อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนหลายรายยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันให้เกิดการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท จีจีซี เคทิส ไบโออินดัสเทรียล จำกัด (GKBI) ที่ล่าสุด ได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชียแปซิฟิก จำกัด (NatureWorks) จากสหรัฐอเมริกา เพื่อผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด (PLA) กำลังการผลิตถึงประมาณ 75,000 ตันต่อปี โดยโครงการฯ ระยะที่ 2 มีมูลค่าลงทุน 21,430 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาลไทยแล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นปี 2565 นี้ และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ภายในปี 2567

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน เช่น โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย ของบริษัท อิมเพรส กรีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ที่ฉะเชิงเทรา มูลค่าลงทุน 57,600 ล้านบาท ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และมีแผนลงทุนเพิ่มเติมในส่วนของโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากกัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical grade) โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ ของบริษัท อุตสาหกรรมน้ำตาลชาวไร่ จำกัด ที่จังหวัดลพบุรี มูลค่าลงทุน 32,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ รวมถึงจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่จังหวัดขอนแก่น มูลค่าลงทุน 29,705 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบทางด้านพันธุ์สัตว์ในพื้นที่รอบโครงการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูง เช่น น้ำตาลแคลอรีต่ำ เบกกิ้งยีสต์ (Baking yeast) จากกากน้ำตาล โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุบลราชธานี ของบริษัท อุบลราชธานี อินดัสตรี้ จำกัด มูลค่าลงทุน 8,400 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรายงาน EIA และพิจารณาแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดอุบลราชธานี โดยโครงการฯ ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นพร้อมสร้างการรับรู้กับชุมชนที่อยู่โดยรอบโครงการแล้ว

นายสุริยะ กล่าวย้ำว่า หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆ ที่รายงาน ครม. รับทราบได้ตามแผนที่กำหนดไว้ จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพในประเทศเพิ่มขึ้นอีกกว่า 149,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและช่วยหนุน GDP ของไทยให้เติบโตเพิ่มขึ้นแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพเหล่านี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประการสำคัญจะเป็นการสร้างงาน ก่อให้เกิดรายได้ให้กับเกษตรกรและแรงงานในพื้นที่ทั้งฉะเชิงเทรา ลพบุรี ขอนแก่น อุบลราชธานี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในประเทศ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเชื่อมั่นว่าด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการจะสามารถขับเคลื่อนให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมชีวภาพในทุกพื้นที่ของประเทศสอดรับนโยบาย BCG Economy ของรัฐบาล และก้าวสู่การเป็น Bio Hub of ASEAN ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า นอกจากการปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว การสร้างดีมานด์ในประเทศ เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ ซึ่ง สศอ. ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต (Converter) เพื่อให้ผู้ซื้อคนแรกที่ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตามประเภทที่กรมสรรพากรกำหนดนำไปเป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ในช่วงปี 2562- กรกฎาคม 2564 สศอ. ได้ออกใบรับรองแล้วทั้งสิ้น 48 ผลิตภัณฑ์ จากผู้ผลิตรวม 4 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทหลอดพลาสติก

ขณะนี้ สศอ. และกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการว่ามีตลาดรองรับเพียงพออย่างแน่นอน และจูงใจให้ห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพทดแทนปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือคิดเป็นปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกชีวภาพเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประมาณ 43,000 ตันต่อปี ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสวนหนึ่งที่จะช่วยการลดปริมาณการใช้พลาสติกของประเทศอีกด้วย

 

#อุตสาหกรรมไบโอ #อุตสาหกรรมชีวภาพ #Green Tax Expense #มาตรการกระตุ้นใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ #พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ #ไบโอพลาสติก #Bioplastics industry #พอลิเมอร์ชีวภาพ #โพลีแลคติค แอซิด #Polylactic Acid #PLA #BCG Model #โมเดลเศรษฐกิจใหม่ 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH