กพร. โชว์ผลงาน “รีไซเคิลซากแผงโซลาร์เซลล์แบบครบวงจร” ครั้งแรกในไทย
กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดผลสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แบบครบวงจร ครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมเป็นต้นแบบให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
Advertisement | |
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง “Innovation in Raw Materials Conference 2021: Circular Economy ต่อยอดธุรกิจตามแนวคิดความยั่งยืน” ของ กพร. โดยกล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในการประกอบกิจการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันไปพร้อมกับการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตาม BCG Model หรือ Bio-Circular-Green (BCG) Economy ของรัฐบาล
โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลของ กพร. ภายใต้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการสร้างต้นแบบด้านนวัตกรรมวัตถุดิบที่ยั่งยืน และเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ในปีนี้ กพร. สามารถพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ได้อย่างครบวงจร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแต่งแร่และโลหการที่มีความเชี่ยวชาญ โดยสามารถรีไซเคิลส่วนประกอบต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ เศษกระจก โลหะผสมซิลิคอน เงินบริสุทธิ์ ทองแดงบริสุทธิ์ อะลูมิเนียม และผงเงิน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในประเทศไทย
“แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งกันอย่างแพร่หลายในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา จะเริ่มชำรุดหรือหมดอายุและหมดความคุ้มค่าในการผลิตไฟฟ้า โดยภายในระยะ 5 ปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลักพันตันต่อปีเป็นหลักหมื่นตันต่อปี หากมีกระบวนการจัดการและเทคโนโลยีการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นวัตถุดิบทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ และยังเป็นการลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอีกด้วย” นายกอบชัย กล่าว
- กรอ. ร่วม กฟผ. สร้างต้นแบบ 'โรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่' ครบวงจรในไทย
- เปิดนวัตกรรม "รีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์สู่แบตลิเธียม" ชนะเลิศโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- “หัวเว่ย” เผย “10 เทรนด์อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์” ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ด้านนายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับตัวเพื่อรับอกับปัญหาปริมาณสำรองทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นความท้าทายที่เราต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างความสมดุลและความยั่งยืนของทรัพยากร กพร. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดหาและบริหารจัดการวัตถุดิบเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่ภาคอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ ด้วยการทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining) เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากรทดแทน และในปีนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบครบวงจร ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของ กพร. ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล กพร. ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียรวมกว่า 70 ชนิด โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจ เฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย สร้างธุรกิจใหม่ (Start-up) และยกระดับผู้ประกอบการ (Level-up) โดยก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปใช้ 150-200 ล้านบาทต่อปี
สำหรับงานสัมมนาวิชาการ Innovation in Raw Materials Conference 2021: Circular Economy ต่อยอดธุรกิจตามแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งจัดโดยกองนวัตกรรมวัตถุดิบและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กพร. มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในองค์กร และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการร่วมกัน โดยกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การอภิปรายการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยได้รับเกียรติจากบริษัทขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ที่เป็นผู้นำในการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้ในองค์กร การเผยแพร่นวัตกรรมและผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จ เช่น เทคโนโลยีรีไซเคิลซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ครบวงจร การเพิ่มคุณภาพแร่เหล็กชนิดเกอร์ไทต์ด้วยวิธีการเผา และการเพิ่มมูลค่าแร่โพแทชและเกลือหินภายในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ รวมถึงบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสัมมนาหรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www5.dpim.go.th
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH