แนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ไทยเติบโตสูง ม.ค. 65 เปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 39%
พาณิชย์ เผยสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยขยายตัว ช่วงต้นปี 2565 เปิดกิจการใหม่เพิ่มขึ้น 39% แนะใช้ RCEP เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ณ เดือนมกราคม 2565 มีทิศทางการขยายตัวดี มีการเติบโตของการเปิดกิจการใหม่ร้อยละ 39.6 โดยธุรกิจด้านการบริหารจัดการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมแนะผู้ประกอบการเตรียมพร้อมใช้ประโยชน์จากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่จะช่วยหนุนการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกส์
วันที่ 21 มีนาคม 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) ให้ข้อมูลว่า เดือนมกราคม ปี 2565 มีธุรกิจโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนเปิดกิจการใหม่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จำนวน 444 ราย เติบโตร้อยละ 39.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) การขนส่งและขนถ่ายสินค้า จำนวน 244 ราย (2) การขนส่งสินค้าทางถนน 68 ราย และ (3) กิจกรรมตัวแทน รับจัดส่งสินค้า 33 ราย โดยมีการเติบโตร้อยละ 26.4 83.8 และ 32.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ
ธุรกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การบริหารจัดการด้านการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า เพื่อสนับสนุนการผลิตและกระจายสินค้าและวัตถุดิบ (TSIC 52291) ที่ในปี 2563 มีรายได้รวม 87,240.63 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 22.4 (จากเดิมเติบโตร้อยละ 2.8 ในปีก่อนหน้า) และในปี 2564 มีนิติบุคคลธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ 207 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.3 รวมการลงทุนเป็นมูลค่า 908.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 284.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ เป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ (ทุนจดทะเบียนสูงตั้งแต่ 10-500 ล้านบาท) 7 ราย ซึ่งมีการลงทุนรวมร้อยละ 71 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
สำหรับธุรกิจการบริหารจัดการด้านการขนส่งฯ ที่ดำเนินกิจการอยู่ 1,276 ราย ส่วนใหญ่มีการจดทะเบียนกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 และปริมณฑลร้อยละ 20 (ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ) และพื้นที่เขต EEC ร้อยละ 11 (ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดชลบุรี) โดยพบว่าในเขตจังหวัดชายแดน ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อการค้าภูมิภาค ยังมีจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจคลังสินค้าค่อนข้างน้อย เช่น เชียงราย (6 ราย) หนองคาย (7 ราย) บึงกาฬ (3 ราย) มุกดาหาร (4 ราย) และนครพนม (3 ราย) เป็นต้น ธุรกิจคลังสินค้าจึงเป็นโอกาสของนักธุรกิจหน้าใหม่ ยังมีพื้นที่ให้เข้ามาทำตลาดอีกมาก โดยผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงสถานที่ประกอบการเป็นหลัก เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งของ รวมถึงการพัฒนารูปแบบคลังสินค้าให้ทันสมัย นำเทคโนโลยีมาใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการในอนาคตเพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนมกราคม ปี 2565 ไทยมีมูลค่าการค้ารวม 1.51 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 27.7 แบ่งเป็น การขนส่งทางเรือ สัดส่วนร้อยละ 66.5 ของมูลค่าการค้ารวม (เติบโตร้อยละ 30.4) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันและก๊าซปิโตรเลียม ส่วนประกอบยานยนต์ และยานยนต์ เป็นต้น รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ สัดส่วนร้อยละ 23.0 (เติบโตร้อยละ 28.8) สินค้าสำคัญ ได้แก่ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ และส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น การขนส่งทางถนน สัดส่วนร้อยละ 10.4 (เติบโตร้อยละ 10.8) สินค้าสำคัญ ได้แก่ หน่วยความจำคอมพิวเตอร์ เพชร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และการขนส่งทางราง สัดส่วน ร้อยละ 0.1 (เติบโตร้อยละ 9.4) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และไม้อัด เป็นต้น
ผอ.สนค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 นั้น เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันและหนุนการส่งออกไทยให้ขยายตัวมากขึ้น โดยผู้ประกอบการด้านพิธีการทางศุลกากรและผู้ส่งออก ควรเร่งศึกษาสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับ อาทิ (1) การลดอากรขาเข้าเพิ่มเติมจากความตกลง FTA อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น จีน ลดอากรยานยนต์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 8703 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ รถพยาบาล รถบรรทุกมินิบัส ซึ่งเป็น 1 ใน 10 สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปจีน เหลือร้อยละ 15 (ขณะที่ FTA อาเซียน-จีน มีอัตราอากรร้อยละ 25) ญี่ปุ่น ลดอากรเนื้อสัตว์ และส่วนอื่นของสัตว์ เช่น ตับสัตว์ ภายใต้พิกัดศุลกากร 1602 (พิกัดศุลกากร 1602 เป็นสินค้าสำคัญอันดับแรกที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่น) ระหว่างปี 2565-2567 เหลือร้อยละ 5.625 5.25 และ 4.875 ตามลำดับ (ขณะที่ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น มีอัตราอากรร้อยละ 6) (2) การปรับลดระยะเวลาตรวจปล่อยสินค้าเร่งด่วนและสินค้าเน่าเสียง่าย ให้แล้วเสร็จภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าทั่วไปภายใน 48 ชั่วโมง และ (3) กฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules: PSRs) ที่เปิดโอกาสให้ใช้วัตถุดิบนอกภูมิภาคมากขึ้น และกฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าที่ครอบคลุม 15 ประเทศ ช่วยส่งเสริมการเป็นห่วงโซ่การผลิตร่วมในภูมิภาค RCEP
นอกจากนี้ ตามข้อตกลง RCEP ประเทศสมาชิก RCEP มีการเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมในธุรกิจบริการด้านการขนส่ง ดังนี้ (1) จีน: บริการตรวจสอบสินค้าที่ขนส่ง (2) เกาหลี: บริการซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน และบริการซ่อมและบำรุงรักษาราง บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง (3) ญี่ปุ่น: การให้บริการอุตสาหกรรมทางอวกาศยาน (4) ออสเตรเลีย: บริการบรรจุภัณฑ์ และบริการไปรษณีย์ และ (5) นิวซีแลนด์: บริการเสริมของการขนส่งทางอากาศ อาทิ บริการซ่อมบำรุงรักษาอากาศยาน บริการคลังสินค้า บริการตัวแทนจัดเก็บสินค้า บริการลานจอดในอากาศยาน และบริการสนับสนุนอื่นๆ เพื่อการขนส่งทางอากาศ ขณะที่ไทยเปิดตลาดให้สมาชิก RCEP เข้ามาลงทุนในธุรกิจบริการขนส่งเพิ่มเติม อาทิ บริการซ่อมบำรุงและซ่อมแซมอากาศยาน โดยอนุญาตให้ผู้ให้บริการของประเทศสมาชิก RCEP ถือหุ้นได้ร้อยละ 51 บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์การขนส่งทางราง และบริการเก็บสินค้าและคลังสินค้าสำหรับสินค้าแช่เย็นและแช่แข็ง อนุญาตให้ถือหุ้นได้ร้อยละ 70 เป็นต้น ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนของต่างชาติ จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเป็นห่วงโซ่คุณค่าโลก ประกอบกับการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะช่วยขยายการค้าการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ตามไปด้วย
ผอ.สนค. กล่าวทิ้งท้ายว่า ในปี 2565 ธุรกิจบริการโลจิสติกส์จะมีส่วนที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะ การขยายการค้ากับกลุ่มประเทศสมาชิก RCEP และการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับรถไฟจีน-ลาว สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมกลยุทธ์การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนการขนส่งทั้งในและระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า มีการติดตามสถานการณ์โลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านธุรกิจบริการโลจิสติกส์ และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH