ส่งออกอุปกรณ์การแพทย์สดใส ม.ค.-ก.ย. 2563 มูลค่ารวม 551 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 4% ปัจจัยหนุนเพียบ ทั้งความต้องการใช้เพิ่ม-มาตรการสู้โควิดของอาเซียน-เอฟทีเอ

ส่งออกอุปกรณ์การแพทย์สดใส 9 เดือน โต 4% ปัจจัยหนุนเพียบ ทั้งความต้องการใช้เพิ่ม-มาตรการสู้โควิดของอาเซียน-เอฟทีเอ

อัปเดตล่าสุด 27 พ.ย. 2563
  • Share :
  • 609 Reads   

ความต้องการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น ดันยอดส่งออกอุปกรณ์การแพทย์ของไทย ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 มีมูลค่ารวม 551 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว กรมเจรจาฯ แนะผู้ประกอบการปรับแผนการผลิตและใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2563 หลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง ตุรกี อินโดนีเซีย และเปรู เริ่มสำรองและเพิ่มการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเข็มหลอดฉีด สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อทางสาธารณสุข

วิกฤติโควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเร่งหามาตรการเพื่อบรรเทาและหยุดผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยประเทศสมาชิกอาเซียนร่วม ลงนาม “บันทึกความเข้าใจของอาเซียนว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19” เมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลให้การค้าสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ต่อสู้โควิด-19 ครอบคลุมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่างสมาชิกอาเซียนมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยจะหลีกเลี่ยงการออกมาตรการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและที่อาจเป็นอุปสรรคทางการค้าเป็นเวลา 2 ปี นอกจากนั้น องค์การการค้าโลก (WTO) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องให้สมาชิก WTO 164 ประเทศ พิจารณาเปิดตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์ รวมทั้งลดการใช้มาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต โดยปัจจุบัน สมาชิก WTO เก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องมือทางการแพทย์ในอัตราภาษีเฉลี่ย 3.4%

จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยเร่งยกระดับพัฒนาสินค้าและปรับแผนกำลังการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ขยายการส่งออก ปัจจุบันประเทศคู่เอฟทีเอของไทย 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ไม่เก็บภาษีศุลกากรในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่นำเข้าจากไทยทุกรายการแล้ว ส่งผลให้สินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ของไทยได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง นางอรมน กล่าวเสริม

ในช่วง ม.ค.-ก.ย. 2563 ไทยส่งออกสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่ารวม 551 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ญี่ปุ่น 168 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8% สหรัฐอเมริกา 122 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% สหภาพยุโรป (เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี) 116 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 9% มาเลเซีย 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 28% ออสเตรเลีย 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 24% เมียนมา 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11% เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เข็มและหลอดฉีดหรือสวน อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทันตกรรมอื่น ๆ เข็มฉีดยาหรือเข็มเย็บแผลทำด้วยโลหะ โดยเข็มฉีดยาและเข็มเย็บแผลที่ทำจากโลหะถือเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 6 ของโลก และไทยนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ มูลค่ารวม 784 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น อุปกรณ์และเครื่องใช้ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศัลยกรรม ทันตกรรม และอวัยวะเทียม เป็นต้น

 

อ่านต่อ: