สคฝ. เปิดมาตรการคุ้มครองเงินฝาก ปี 2563
สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA โดย นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบัน จัดกิจกรรมให้ความรู้ เปิดมาตรการคุ้มครองเงินฝาก เมื่อวันที่ 28 สิงหาาคม 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม สยาม แอ็ท สยาม ดีไซน์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อเสริมความมั่นใจผู้ฝากเงินช่วงเศรษฐกิจผันผวน โดยให้ความคุ้มครองเงินฝากในบัญชี ครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ภายใต้สถาบันการเงิน 35 แห่งในความคุ้มครองของ DPA
การคุ้มครองเงินฝาก
1. ใครเป็นผู้ได้รับความคุ้มครอง
ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาได้รับความคุ้มครอง เมื่อเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝากของผู้ฝากแต่ละราย ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน
สำหรับผู้ฝากที่เป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท กองทุนต่าง ๆ มูลนิธิ วัด สมาคม สหกรณ์ บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยประเภทของเงินฝากและสถาบันการเงินที่ฝากต้องอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก
สำหรับชาวต่างชาติที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในประเทศไทย จะได้รับการคุ้มครองต่อเมื่อเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศที่เป็นเงินบาท ในประเภทที่ให้ความคุ้มครอง เว้นแต่เป็นเงินฝากใน “บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน
หมายเหตุ
“บัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ” (NON-RESIDENT BAHT ACCOUNT)" คือ ประเภทบัญชีเงินฝากพิเศษที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเป็นสกุลเงินบาท เพื่อทำรายการเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้ความคุ้มครองของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก
2. คุ้มครองอะไร
ผลิตภัณฑ์เงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก เป็นเงินสกุลบาทและเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ในปัจจุบันมี 5 ประเภท ได้แก่
- เงินฝากกระแสรายวัน
- เงินฝากออมทรัพย์
- เงินฝากประจำ
- บัตรเงินฝาก
- ใบรับฝากเงิน
- ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือเงินฝากบางประเภทไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น
- เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
- เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน (SSF, RMF)
- เงินฝากในสหกรณ์
- แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
- เงินอิเล็กทรอนิกส์
- ผลิตภัณฑ์ประกันประเภทออมทรัพย์ ที่ออกโดยบริษัทประกัน
3. วงเงินคุ้มครอง
หากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากในสถาบันการเงินดังกล่าว จะได้รับเงินฝากคืนจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากภายใต้วงเงินคุ้มครองที่กำหนด โดยจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) ซึ่งหมายถึง วงเงินสูงสุดที่ผู้ฝากที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากตามเอกสารการเปิดบัญชีจะได้รับเงินฝากคืน ในกรณีที่ผู้ฝากมีบัญชีเงินฝากหลายบัญชีที่เปิดอยู่กับสถาบันการเงิน 1 แห่ง จะต้องนำเงินฝาก (เงินต้นและดอกเบี้ย) ในทุกสาขาและทุกบัญชีของสถาบันการเงินแห่งนั้นมารวมคำนวณ
ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองเงินฝากอยู่ที่ 5 ล้านบาทจนถึงวันที่ 10 สิงหาคม 2564 และจะบังคับใช้วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
4. คุ้มครองที่ไหน
รายชื่อสถาบันการเงินที่ได้รับการคุ้มครอง
ธนาคารพาณิชย์ (19 แห่ง)
- ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารเมกะ สากลพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารแห่งประเทศจีน (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารเอเอ็นแซด (ไทย) จำกัด (มหาชน)
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)
สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ (11 แห่ง)
- ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส
- ธนาคารโอเวอร์ซี-ไชนีส แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
- ธนาคารซิตี้แบงก์
- ธนาคารอาร์ เอช บี จำกัด
- ธนาคารแห่งอเมริกา เนชั่นแนล แอสโซซิเอชั่น
- ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด
- ธนาคารดอยซ์แบงก์
- ธนาคารมิซูโฮ จำกัด
- ธนาคารบีเอ็นพี พารีบาส์
- ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น
- ธนาคารอินเดียน โอเวอร์ซีส์
บริษัทเงินทุน (2 แห่ง)
- บริษัทเงินทุน ศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัทเงินทุน แอ็ดวานซ์ จำกัด (มหาชน)
บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เอสเบ จำกัด
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ เวิลด์ จำกัด
- บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ แคปปิตอล ลิ้งค์ จำกัด
5. ทำอย่างไรถึงได้รับความคุ้มครองเงินฝาก
การคุ้มครองเงินฝากเป็นนโยบายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนผู้ฝากมั่นใจว่าจะได้รับเงินฝากคืนภายใต้วงเงิน และภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด หากสถาบันการเงินภายใต้ความคุ้มครองถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะได้รับความคุ้มครองเช่นเดียวกันโดยอัตโนมัติทันทีที่เปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งผู้ฝากไม่ต้องดำเนินการใด ๆ และไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง โดยวงเงินคุ้มครองจะคุ้มครองในลักษณะ 1 รายชื่อผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน โดยนำเงินฝากของผู้ฝากแต่ละราย ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกัน
ประชาชนและนิติบุคคลสามารถตรวจสอบและสอบถามข้อมูลการคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการให้ความรู้การคุ้มครองเงินฝาก 1158