รฟท. จัดประชุม Workshop ระดมความเห็น ตั้ง 3 บริษัทลูก
การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดประชุมระดมความคิดของการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ทางและอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟฯ เพื่อรวบรวมความเห็นเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะมาใช้ประกอบการศึกษาจัดตั้งบริษัทลูกฯ พร้อมเดินสายจัดประชุม Workshop รับฟังความเห็นในส่วนภูมิภาค อีก 3 ครั้ง นครราชสีมา ทุ่งสง และอุตรดิตถ์
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่โรงแรมแอดสยาม ปทุมวัน กรุงเทพฯ นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน เป็นประธานเปิดการประชุมระดมความคิดของการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ทางและอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย ในหัวข้อปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินกิจการรถไฟ เพื่อรวบรวมความเห็นและแนวทางที่เกี่ยวข้องนำมาใช้ประกอบการศึกษาจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯ โดยมีผู้บริหารและพนักงานการรถไฟฯ เข้าร่วมกว่า 100 คน
นายศิริพงศ์ เปิดเผยว่า การประชุมระดมความคิดของการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทฯ ครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ซึ่งเห็นชอบให้มีการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางขึ้น พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดติดตามการดำเนินการจัดตั้งบริษัทลูกภายใต้การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของกรมการขนส่งทางราง และเหมาะสมกับโครงสร้างของธุรกิจการขนส่งทางราง
ทั้งนี้เพื่อให้แนวทางการดำเนินงานสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว การรถไฟฯ จึงได้ดำเนินการว่างจ้างที่ปรึกษา บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวอรี่ จำกัด (ประเทศไทย) ให้เป็นผู้ศึกษาโครงการว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ บริษัทซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐาน (ทางและอาณัติสัญญาณโทรคมนาคม) และบริษัทซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกับดำเนินการจัดประชุม Workshop ระดมความเห็น เพื่อรับฟังมุมมอง ข้อดีและข้อเสียในการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟฯ จากพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน นำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาให้เกิดความรอบคอบ และมีประสิทธิภาพสูงสุด
“ในที่ประชุมผู้บริหารและพนักงานรถไฟ ได้ร่วมกันเสนอความเห็นถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขในการจัดตั้งบริษัทลูกอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ด้านการปฏิบัติงานและการบริหารจัดการ ปัญหาด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ล่าช้า ปัญหาการหารายได้ ปัญหาการขยายบริการ ปัญหาการขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการขาดพันธมิตรในการดำเนินงาน อีกทั้งยังได้เสนอความเห็นในการจัดทำโมเดลรูปแบบบริษัทลูกของการรถไฟฯ ที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดทุนสะสมของการรถไฟฯในอนาคตด้วย”
นายศิริพงศ์กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้การรถไฟฯ และบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะดำเนินการจัดกิจกรรมประชุมระดมความคิดของการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมการจัดตั้งบริษัทเดินรถ และบริษัทซ่อมบำรุงรางและล้อเลื่อนการรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดประชุม Workshop ในส่วนภูมิภาคอีก 3 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 11 กันยายน 2563 ที่จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 18 กันยายน 2563 ที่อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช และ วันที่ 25 กันยายน 2563 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ทั้งนี้เพื่อต้องการรับฟังความเห็นจากพนักงานรถไฟทุกฝ่าย และทุกพื้นที่ให้มากที่สุด เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจัดตั้งบริษัทลูกฯ และปรับปรุงการให้บริการของการรถไฟฯ ให้เดินหน้าสู่อนาคตที่มั่นคงต่อไป
อ่านต่อ:
- Perspective ระบบราง ประเทศไทย
- ก่อร่าง สร้างระบบราง อีกก้าวใหญ่ของประเทศไทย
- รฟท. เปิดเวที Market sounding ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ระยะ 2