ก.อุตฯ ตั้งเป้าปี'64 ดึง 184 โรงงานเข้าร่วม สร้างเครือข่ายบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งนำระบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมใช้กับสถานประกอบการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 2564 ดึง 184 โรงงานเข้าร่วม สร้างเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาชนร่วมบูรณาการ พร้อมเผยผลสำเร็จ ปี 2551-ปัจจุบัน มีสถานประกอบการผ่านเกณฑ์มาตรฐานธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 2,724 โรงงาน มีเครือข่ายอุตสาหกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อมสะสม 12,676 ราย พร้อมย้ำ “ยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้เข้มแข็ง ต้องควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ”
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความเข้มแข็งอย่างมีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำกับดูแลสถานประกอบการและเฝ้าระวังสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการนำมาตรการเชิงรุกมาใช้ในการตรวจสอบควบคู่กับการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน เช่น การเปิดเผยข้อมูล การเข้าไปตรวจสอบข้อมูล และการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาและเติบโตเป็นไปอย่างรวดเร็ว และย่อมมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งปัญหามลพิษทางอากาศและ ทางน้ำที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และประชาชนในชุมชนโดยรอบ
กระทรวงอุตสาหกรรม จึงกำหนดแนวทางสำหรับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน โดยนำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ที่ขับเคลื่อนและสานพลังจาก 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ สถานประกอบการ ประชาชนและภาคราชการ มาปรับใช้ โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชน รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการของสถานประกอบการ เพื่อเป็นเครือข่ายสำคัญในการเฝ้าระวังและร่วมป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้โรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนได้
- กระทรวงอุตฯ ตั้งเป้า 7 หมื่นโรงงานสีเขียว เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายในปี'68
- กพร. ออกมาตรการสั้น-ยาว หนุนโรงงานหลอมเศษโลหะ ยกระดับคุณภาพอากาศประเทศไทย
- ก.อุตฯ เปิดโครงการ Bio-Circular Green Complex แห่งแรกของเอเชีย ในพื้นที่ EEC
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการลุ่มน้ำและพัฒนาระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรการสำคัญที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสื่อสารถ่ายทอดนโยบายและแนวทางการดำเนินการเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเป็นประจำทุกปีให้แก่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อปลูกฝังให้บุคลากรในสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับ ภาคประชาชนเกิดความตระหนัก โดยนำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 7 ข้อประกอบด้วย 1.หลักประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 2.หลักประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 3.หลักความโปร่งใส 4.หลักความรับผิดชอบต่อสังคม 5.หลักนิติธรรม 6.หลักความยุติธรรม และ 7.หลักความยั่งยืนมาปรับใช้กับการดำเนินกิจการของสถานประกอบการ เพื่อเป็นการลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบของสถานประกอบการ โดยจะเริ่มการดำเนินงานเชิงรุกด้วยการกำหนดและวางมาตรการการตรวจสอบสถานประกอบการที่ถูกร้องเรียนและสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสายหลักที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหา การปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ
ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ โดยในปี 2563 มีผู้ประกอบการนำระบบธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาใช้และผ่านเกณฑ์มาตรฐานรายใหม่เพิ่มขึ้น 188 ราย และมีการตรวจสอบคุณภาพในลุ่มน้ำสายหลัก ลำธาร คู คลอง หนอง และบึง ที่สำคัญในพื้นที่รวมทั้งสิ้น 1,133 จุด ส่งผลให้มีสถานประกอบการเข้าร่วมนับตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน จำนวน 2,724 โรง มีเครือข่ายสะสมรวม 12,676 ราย และในปี 2564 ยังได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างการมีส่วนร่วมจากสถานประกอบการไม่น้อยกว่า 184 ราย ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนงานให้เป็นไปตามเป้าได้ เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ สู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม