เครดิตเทอม 30-45 วัน คิกออฟ 16 ธ.ค. 64 นี้ กขค.กำชับภาคธุรกิจ-เอสเอ็มอี ทำความเข้าใจ รับเป็นแนวทางปฏิบัติ
กขค. ประกาศบังคับใช้ “เครดิตเทอม 30-45 วัน” เริ่ม 16 ธ.ค. 64 พร้อมชวนภาคธุรกิจ – เอสเอ็มอี ทำความเข้าใจ พร้อมรับเป็นแนวทางปฏิบัติ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการค้าไม่เป็นธรรมหรือผิดกฎหมาย
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. ออกประกาศเรื่องแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ หรือไกด์ไลน์ Credit Term ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 นี้ โดยสาระสำคัญครอบคลุมประเด็นทั้งในด้านเนื้อหาและกระบวนการ ที่ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือผิดกฎหมายได้ ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th
- สขค. เตรียมบังคับใช้มาตรการ “เครดิตเทอม” พยุงสภาพคล่องเอสเอ็มอี ธ.ค. 64 นี้
- ฟื้นโครงการ FTI Faster Payment Phase 2 ช่วย SMEs หนุน Digital Factoring สร้างสภาพคล่องตลอดซัพพลายเชน
- F.T.I. Faster PAYMENT อัดฉีดสภาพคล่องให้ SMEs นำร่อง 100 บริษัทเอกชน ร่วมมาตรการเครดิตเทอม 30 วัน
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า และโฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สขค. ได้ชี้แจงรายละเอียดของประกาศเรื่องแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นผู้ขายสินค้าหรือบริการ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจทราบอย่างต่อเนื่อง แต่พบว่ายังมีประเด็นคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติ จึงต้องการทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ให้เกิดความชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้ทราบและมีความรู้ความเข้าใจเป็นแนวปฏิบัติสำหรับการประกอบธุรกิจที่ตรงกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ประกาศฯ จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ในรายละเอียด ดังนี้
- ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับกับผู้ประกอบธุรกิจทุกรายในภาคการผลิต การค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมผู้ซื้อทั้งผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบธุรกิจ SMEs
- หลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจ SMEs กรณีการผลิตสินค้า ต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 500 ล้านบาท กรณีการให้บริการ กิจการค้าส่ง หรือกิจการค้าปลีก ต้องมีการจ้างงานไม่เกิน 100 คน หรือมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยแนวทางในการพิจารณาเมื่อเข้าองค์ประกอบการจ้างงาน หรือรายได้ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ตามประกาศฯ
- การกำหนดระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 45 วัน กรณีสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 30 วัน โดยการเริ่มนับระยะเวลาจะพิจารณาเมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวน ประเภท คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหรือบริการที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ มีการตรวจรับเรียบร้อยและส่งมอบเอกสารครบถ้วน เช่น ใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่มีใบกำกับภาษีการลงนามถูกต้อง หรือใบส่งมอบสินค้า (D/O) ที่มีการลงนามรับสินค้าหรือบริการแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามการค้าปกติที่เคยปฏิบัติกันมา
- การชำระสินเชื่อการค้า (Credit Term) กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ ต้องแสดงรายละเอียดและขั้นตอนการจ่ายเงินให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการชำระเงินเช่น ระบบการวางบิล รอบวันการวางบิล ระบบบัญชี เพื่อให้สามารถชำระสินเชื่อการค้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศฯ กรณีผู้ขายสินค้าหรือบริการที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ต้องแสดงหลักฐานจำนวนการจ้างงานหรือเอกสารแสดงรายได้ต่อปี เช่น งบการเงินที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การชำระหนี้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม หรือ เอกสารอื่นใดที่หน่วยงานราชการยอมรับว่าเป็น SMEs หากไม่มีจริงๆ สามารถใช้เอกสารจ้างงานหรือรายได้ที่จัดทำขึ้นเองและรับรองความถูกต้องของเอกสารให้แก่คู่ค้าตามที่ตกลงกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดีอาจมีการตกลงยกเว้นไม่ต้องแสดงเอกสารใดๆ หากคู่ค้าเชื่อถือและยอมรับหรือมีวิธีการตรวจสอบของตนอยู่แล้ว
นายสันติชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) จะเผยแพร่คำอธิบายไกด์ไลน์เครดิตเทอม เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจชัดเจนและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) ได้แก่ การประวิงเวลาการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าหรือเงื่อนไขอื่นภายใต้สัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือพฤติกรรมอื่นๆ อันเป็นการบังคับโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดซึ่งเป็นคู่ค้ากับ SMEs อย่างไม่เป็นธรรมที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการต้องรู้
นอกจากนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีการกระทำผิดตามประกาศฯ จะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หากพบผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ช่องทางเว็บไซต์ www.otcc.or.th หรืออีเมล [email protected] หมายเลขโทรศัพท์ 02-199-5444
#ธุรกิจ #เอสเอ็มอี #SME #SMEs #ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม #การผลิต #การค้า การบริการ #เครดิตเทอม #Credit Term #มาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า #สภาพคล่องทางการเงิน #เยียวยาผู้ประกอบการ #เยียวยาผลกระทบโควิด #โควิด-19 #เครดิตเทอม 30 วัน #เครดิตเทอม 30 วัน มีอะไรบ้าง #เครดิตเทอม SME #คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กขค.
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH