ภาพรวมนำเข้า-ส่งออกวัตถุอันตรายใกล้เคียงปีก่อน กรอ.แนะผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตผ่านออนไลน์

อัปเดตล่าสุด 23 เม.ย. 2563
  • Share :
  • 823 Reads   

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกมาตรการอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตวัตถุอันตรายในจุดเดียวผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งการยื่นขออนุญาตใหม่ และขอต่ออายุ การขึ้นทะเบียน ผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง เพื่อเพิ่มระยะห่างทางสังคมตามนโยบายของรัฐบาล ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าและส่งออกวัตถุอันตรายยังคงใกล้เคียงกับปีก่อน คาดอาจเกิดจากการตกลงซื้อขายล่วงหน้าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาพรวมสถานการณ์วัตถุอันตรายนับตั้งแต่เดือนมกราคม - 20 เมษายน 2563 มีการขออนุญาตนำเข้า 1.24 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 1.26 ล้านตัน หรือลดลง 1.53% และมีการส่งออก 805,432 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 779,287 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 3.35% สาเหตุที่มีการนำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกับปีก่อนทั้ง ๆ ที่ปีนี้ทั่วโลกเจอปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 อาจเกิดจากการตกลงซื้อขายไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ดีหรือไม่อย่างไร อาจต้องมาวิเคราะห์ตัวเลขในไตรมาสต่อ ๆ ไปจึงจะสามารถระบุได้ชัดเจนขึ้น

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ขณะนี้ กรอ. ได้ออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง การยื่นคำขอและการออกใบสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรของนายกรัฐมนตรี รวมถึงเป็นประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย จนกว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลาย ซึ่งประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศยกเลิก 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอหรือใบแจ้งเกี่ยวกับวัตถุอันตรายผ่านระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (ระบบ HSSS) ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ ดังนี้ คำขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (แบบ วอ./อก.1) , คำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย (แบบ วอ./อก.4), ใบแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (แบบ วอ./อก.5), ใบขอต่ออายุใบรับแจ้งการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (แบบ วอ./อก.5/1),  คำขออนุญาตผลิตวัตถุอันตราย (แบบ วอ.1), คำขออนุญาตนำเข้าวัตถุอันตราย (แบบ วอ.3), คำขออนุญาตส่งออกวัตถุอันตราย (แบบ วอ.5), คำขออนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย (แบบ วอ.7), คำขอต่ออายุใบอนุญาต (แบบ วอ.9) สามารถดูรายละเอียดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การสมัครสมาชิกระบบการอนุญาตวัตถุอันตราย ณ จุดเดียว (ระบบ HSSS) คู่มือการตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ ระบบติดตามคำขอ e-service คู่มือการชำระค่าธรรมเนียม คำแนะนำการยื่นเอกสารเกี่ยวกับบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบการเก็บรักษาวัตถุอันตราย (บฉ.๑ และ บฉ.๒) และแบบสำรวจข้อมูลสถานประกอบการวัตถุอันตรายได้ทางเว็บไซต์ กองบริหารจัดการวัตถุอันตราย http://oaep.diw.go.th/haz/ 

“มาตรการต่าง ๆ เป็นการเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโควิด-19 ดังนั้นหากผู้ประกอบการที่ต้องการติดต่อราชการกับ กรอ. ก็อยากให้ติดต่อผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้ ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการที่ยื่นเอกสารเท็จ เอกสารที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ กรอ.จะดำเนินคดีอาญากับบุคคลผู้ดำเนินการ หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการนั้นทันที” นายประกอบ กล่าว


อ่านต่อ: