กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดแผน "ดีพร้อมโต" เร่งยกระดับ ผปก. กว่า 28,600 ราย คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 7,500 ล้าน

เปิดแผน "ดีพร้อมโต" เร่งยกระดับ ผปก. กว่า 28,600 ราย คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 7,500 ล้าน

อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2566
  • Share :
  • 1,021 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าเปิดแผนเร่งยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการ ปี 66 "ดีพร้อมโต" ผ่าน 4 กลไก “โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” มุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น ไปพร้อมกันกับนโยบายอุตสาหกรรมคู่ชุมชน โดยตั้งเป้ายกระดับ ผปก. กว่า 28,600 ราย คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 7,500 ล้านบาท

วันที่ 25 มกราคม 2566 นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้ดำเนินงานตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ผ่านกลไก โครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ จนสามารถพัฒนาผู้ประกอบการมากกว่า 14,000 ราย และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมกว่า 7,000 ล้านบาท โดยเฉพาะโครงการอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชน ดีพร้อม หรือ อาชีพดีพร้อม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นเรือธงในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายการให้บริการประชาชนที่เข้าร่วมโครงการกับดีพร้อมจากเดิมเฉลี่ยปีละ 10,000 ราย ไปสู่ 700,000 ราย ส่งผลให้ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการมีศักยภาพทางด้านวิชาชีพเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพต่อยอดธุรกิจ และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ 

โดยภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2566 นี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวโดยมีปัจจัยบวกจากการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว อันจะส่งผลดีกับภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังจากความผันผวนของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนวิกฤตพลังงานที่ราคายังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงกดดัน การบริโภคของภาคครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง และอาจลุกลามซ้ำเติมความเปราะบางทางการเงินให้กับประชาชนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อมและผู้มีรายได้น้อย

นายใบน้อย กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ดีพร้อม ได้มีการถอดบทเรียนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งในทุก ๆ มิติ ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยในปี 2566 นี้ “ดีพร้อม” ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนมากกว่า 13,000 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท และดำเนินกิจกรรมพิเศษ เพื่อยกระดับประชาชนให้สามารถก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยมีเป้าหมายไม่น้อยกว่า 15,600 ราย และคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท 

สำหรับนโยบาย "ดีพร้อมโต" โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับธุรกิจอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น 4 กลไก ประกอบด้วย โตได้ (Start) เป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนมีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจและเติบโตเป็นผู้ประกอบการใหม่ในชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยเกษตรอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าสินค้าชุมชน

โตไว (Speed) เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างรวดเร็วด้วยการสร้างมาตรฐาน เพิ่มผลิตภาพ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด

โตไกล (Scale) เป็นกลไกเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานการผลิตให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคง เน้นการเปลี่ยนผ่าน (Transformation) สู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสมัยใหม่ อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เพื่อขยายสู่ตลาดสากลและสุดท้าย

โตให้ยั่งยืน (Sustainable) เป็นกลไกที่มุ่งสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่ช่วยให้ธุรกิจยั่งยืน เข้าถึงมาตรการและความช่วยเหลือต่าง ๆ       ของภาครัฐ พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ตามนโยบาย BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

นายใบน้อย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกัน ในปี 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตเคียงคู่กับชุมชน จึงได้มอบหมายให้ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมด้วยนโยบาย MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน จึงได้สั่งการให้ ดีพร้อม พัฒนาโมเดลการส่งเสริมอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ “โมเดลชุมชนดีพร้อม” ที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไปพร้อมกับชุมชน ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย

1) ค้นหาและบอกต่อ มุ่งเฟ้นหาผู้นำทางธุรกิจต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจร่วมกับสังคมโดยรอบอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการพัฒนาและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจรวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ หรือเป็นผู้ที่มี “ใจ”และ“พลัง” ในการช่วยเหลือชุมชนและสังคม

2) ประสานประโยชน์ วางแผนเพื่อแสวงหาจุดดำเนินการร่วมระหว่างผู้นำทางธุรกิจ (DIPROM HERO) กับชุมชน โดยการประสานประโยชน์ต้องมีรูปแบบการได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

3) เสริมแกร่ง เสริมแกร่งให้กลุ่มชุมชนตามหลักการอุตสาหกรรม อาทิ ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเครื่องมือเครื่องจักร รักษาคุณภาพมาตรฐาน สร้างมูลค่าเพิ่มและทำการตลาดให้กับเครือข่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนา รวมถึงสนับสนุนให้โมเดลชุมชนดีพร้อมมีความเข้มแข็งมากขึ้น 

และ 4) ยกระดับ เป็นกระบวนการบ่มเพาะ “ผู้นำชุมชน” ให้เป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับสู่การเป็นผู้นำทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดและสร้างฮีโร่ทางธุรกิจรุ่นใหม่ ซึ่งจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนและขยายวงจรโมเดลชุมชนดีพร้อมไปในวงกว้าง ทำให้ธุรกิจอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน 

นอกจากนี้ ในปี 2566 ดีพร้อม ยังมีการดำเนินกิจกรรมพิเศษ ประกอบด้วย 1) การปฏิรูป DIPROM CENTER ให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการภาคธุรกิจ เช่น การเปิดพื้นที่จัดกิจกรรม “อุตสาหกรรมแฟร์” เพื่อจำหน่ายสินค้าคุณภาพดี ราคาเหมาะสม รวมถึงพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจประกอบธุรกิจ 2) การพัฒนาช่องทางตลาดออนไลน์ (DIPROM Marketeer) ส่งเสริมการเข้าถึงและพัฒนาศักยภาพในการจัดจำหน่ายสินค้าและบริการในช่องทางออนไลน์ของผู้ประกอบการแบบครบวงจร ตั้งแต่การฝึกอบรม การจัดพื้นที่สนับสนุนการค้าออนไลน์ การให้คำปรึกษาแนะนำ รวมถึงการจัดแสดงสินค้าในรูปแบบไฮบริด

3) การพัฒนานักส่งเสริมอาชีพดีพร้อม (DIPROM Vocational & Industrial Promoter : DIPROM VIP) เพื่อสร้างผู้ให้บริการในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ สร้างงาน สร้างรายได้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งจากภายใน และ 4) ปั้นดีพร้อมรุ่นเยาว์สู่ดีพร้อมที่ยอดเยี่ยม ภายใต้หลักสูตร DIPROM Young Elite Squad (DIPROM YES!) ซึ่งประยุกต์มาจากหลักสูตรพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมและรูปแบบการปฏิบัติงานของดีพร้อม เพื่อพัฒนาการให้บริการผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH