'พาณิชย์' รุกชี้แจงประเทศคู่ค้าฟ้องทุ่มตลาดสินค้าส่งออกไทย
กระทรวงพาณิชย์ เร่งชี้แจงประเทศคู่ค้าให้ดำเนินการไต่สวนการทุ่มตลาด หรือ Anti-Dumping ให้สอดคล้องกับหลักการของ WTO พร้อมผนึกกำลังกับเอกชนร่วมแจงข้อเท็จจริง
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญได้หันมาใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากสหรัฐฯ นำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) มาใช้กับสินค้ายางรถยนต์กับหลายประเทศรวมทั้งไทย และประเทศคู่ค้าในประเทศอาเซียน อาทิ เวียดนามได้นำมาตรการ AD และมาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty: CVD) มาใช้กับสินค้าน้ำตาลที่นำเข้าจากหลายประเทศรวมทั้งไทย และฟิลิปปินส์นำมาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) มาใช้กับสินค้ารถยนต์ที่นำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก ประกอบกับเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงขาลงเพราะทุกประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 พาณิชย์จึงดำเนินมาตรการเชิงรุก โดยการวางกลยุทธ์แก้ต่างให้กับสินค้าส่งออกไทยเพื่อสร้างความเป็นธรรม และสร้างแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก
นายกีรติ กล่าวว่า กรณีการไต่สวน AD สินค้ายางรถยนต์ของสหรัฐฯ ซึ่งได้กล่าวหาไทยว่ามีอัตราการทุ่มตลาดในสินค้าดังกล่าวอยู่ที่ 106.4-217.5% โดย พณ. ได้จัดประชุมหารือกรณีดังกล่าวร่วมกับตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มสมาคมที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ต่าง และได้จัดให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการไทยเกี่ยวกับมาตรการ AD และกระบวนการไต่สวนฯ ของสหรัฐฯ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินการแก้ต่างต่อไป นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีหนังสือถึงหน่วยงานไต่สวนของสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ความเห็นในการแก้ต่างให้กับผู้ประกอบการยางรถยนต์ไทยต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาทำให้ผลการพิจารณา AD เบื้องต้นของสหรัฐฯ พบว่าผู้ส่งออกสินค้ายางรถยนต์ของไทยมีอัตราอากร AD ต่ำกว่าประเทศคู่แข่งคือ อยู่ที่ 13.25-22.21%
นายกีรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา พณ. ไม่เคยนิ่งนอนใจเมื่อรัฐบาลต่างประเทศเปิดไต่สวน เพื่อกำหนดมาตรการ ซึ่ง พณ. ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการแก้ต่าง กรณีถูกไต่สวน AD CVD และ SG และเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้คำแนะนำแก่ภาคเอกชนในการแก้ต่างตามข้อกล่าวหาตามมาตรการต่างๆ รวมถึงการท้วงติงเพื่อรักษาสิทธิให้แก่ภาคเอกชนที่จะต้องได้รับความเป็นธรรมและความโปร่งใสระหว่างกระบวนการไต่สวนจากรัฐบาลต่างประเทศตามมาตรฐานสากล
สำหรับรายการสินค้าอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างกระบวนการไต่สวน เช่น สินค้าน้ำตาลที่เวียดนามไต่สวน AD และ CVD และสินค้ายานยนต์ที่ฟิลิปปินส์ไต่สวน SG พณ. ได้ดำเนินการแก้ต่าง โดยการแสดงข้อโต้แย้งและชี้ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมและชอบธรรมต่อการกำหนดมาตรการโดยรัฐบาลประเทศผู้ฟ้อง หรือการตอบแบบสอบถามเพื่อชี้แจงข้อมูล/ข้อเท็จจริงว่าไทยไม่ได้มีพฤติกรรมการตามที่ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ พณ. ยังได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกลยุทธ์การต่อสู้ที่เหมาะสมในแต่ละกรณี รวมทั้งจะติดตามความคืบหน้าของการใช้มาตรการดังกล่าวของประเทศคู่ค้าอย่างใกล้ชิด และแจ้งผลให้กับผู้มีส่วนได้เสียทราบ เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งออก และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันมูลค่าทางการค้าของไทยในเวทีโลกต่อไป
อ่านต่อ:
- ตามติด! มาตรการปกป้องการนำเข้ารถยนต์ของ "ฟิลิปปินส์" ตลาดส่งออกท็อปทรีของไทย
- 5 บิ๊กยางล้อจีนย้ายฐานลงทุนไทย หนีไม่พ้น “สหรัฐฯ” ไล่บี้เปิดไต่สวนจ่อรีดภาษีเอดี
- ส่งออกไทย ธ.ค. 63 เฮ!! ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน