มอก. ก๊าซเรือนกระจก, GHG Emissions, Zero Carbon Emissions, Carbon Neutrality, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

กระทรวงอุตฯ ขับเคลื่อน Net Zero Emission นำ 7 มาตรฐานลด “ก๊าซเรือนกระจก” ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนแล้วกว่า 50 ล้านตัน

อัปเดตล่าสุด 21 ต.ค. 2565
  • Share :
  • 1,746 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรมขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero Emission เดินหน้าประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เผยภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์แล้วกว่า 50 ล้านตัน  

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ประกาศใช้มาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 7 มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรฐานข้อกำหนดและข้อแนะนำระดับองค์กร การวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อย และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก มาตรฐานแนวทางการหาปริมาณคาร์บอนฟุตพริ๊นท์  มาตรฐานแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานสำหรับหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่มีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจากการตรวจสอบพบว่ามีผู้ประกอบการนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วกว่า 200 รายทั่วประเทศ

โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2562 – 15 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้วกว่า 50 ล้านตัน ซึ่งมาตรฐานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง 7 มาตรฐานที่ สมอ. ได้ประกาศใช้เป็นมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) หรือมาตรฐานระบบการจัดการขององค์กรที่กำหนดโดย ISO หรือองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน (International Organization for Standardization - ISO) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ลดก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการในประเทศ

โดย สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในการเป็นสมาชิกของ ISO ได้นำมาตรฐานดังกล่าวมาประกาศใช้ และผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ 166 ประเทศสมาชิกของ ISO ที่ได้ร่วมกันรณรงค์เนื่องในวันมาตรฐานโลกปีนี้ว่า “วิสัยทัศน์ร่วม เพื่อโลกที่ดีกว่าเดิม มาตรฐานสำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SHARED VISION FOR A BETTER WORLD STANDARDS FOR SDGs)” โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคในสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืน และการชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าให้ทุกประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ภายในปี 2573  

ด้าน นายบรรจง  สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการกว่า 200 รายทั่วประเทศนำมาตรฐานดังกล่าวไปใช้แล้วพบว่า สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้กว่า 50 ล้านตัน ตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข้อมูลจากหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ทูฟ นอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด  2) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ  3)ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกลยุทธ์ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  4) วิทยาลัยพลังงานทดแทนและสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร  5) หน่วยรับรองการจัดการก๊าซเรือนกระจก มหาวิทยาลัยพะเยา  6) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด  7) บริษัท บูโร เวอริทัส เซอทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  8) บริษัท อีซีอีอีจำกัด  9)  บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด  10) มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และ 11)  หน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

“นอกจากนี้ สมอ. ยังได้เตรียมประกาศใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางดินอีก 1 ฉบับ ได้แก่ มาตรฐานการจัดการเพื่อมุ่งสู่การฝังกลบกากอุตสาหกรรมเป็นศูนย์ ซึ่งมีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การวิเคราะห์การไหลของกากอุตสาหกรรม วิธีการในการลดกากอุตสาหกรรม การคำนวณการลดกากอุตสาหกรรม และการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้น หากสถานประกอบการนำมาตรฐานนี้ไปใช้จะสามารถลดของเสียได้ตั้งแต่ต้นทาง ทำให้กากอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปฝังกลบเหลือน้อยที่สุด หรือไม่มีเหลือการฝังกลบกากอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งคาดว่ามาตรฐานดังกล่าวจะประกาศใช้ภายในเดือนธันวาคม 2565 นี้” เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH