“พาณิชย์” ชวนร่วม DEmark 2020 สร้างมาตรฐาน ยกระดับสินค้าไทยในตลาดโลก

อัปเดตล่าสุด 22 เม.ย. 2563
  • Share :

จากการที่สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดโครงการพิจารณาคัดเลือกสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือ Design Excellence Award 2020 (DEmark) เพื่อส่งเสริมผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ และยกระดับสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก ด้วยแนวคิด Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก โดยเปิดรับสมัครนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก เข้าร่วมโครงการ จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563  นั้น

 

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องสร้างโอกาสและแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทย การทำให้สินค้าและบริการของคนไทยเป็นของมีดีไซน์เพิ่มคุณค่า เลียนแบบได้ยาก ไม่ใช่เพียงการออกแบบที่สวยงามดูดี หากแต่ฟังก์ชั่นการใช้งานต้องตอบสนองความต้องการของตลาด และสะท้อนแนวคิดที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จึงจะทำให้เราได้เปรียบ ซึ่ง Design  Excellence  Award  : DEmark 2020  สามารถตอบโจทย์นี้ได้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจึงต้องเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก หลังจากที่เศรษฐกิจโลกผ่านพ้นวิกฤติและกลับมาฟื้นตัวสู่สภาวะปกติ 

“นโยบายหลักด้านหนึ่งของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ คือ การส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ขยายช่องทางการค้า รวมทั้งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ ซึ่งการจัดโครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ปี 2563 หรือรางวัล Design Excellence Award (DEmark 2020) เป็นโครงการที่กรมตั้งใจจัดทำขึ้นและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้นับว่าเป็นปีที่ 13 แล้ว เพื่อสนับสนุนให้นักออกแบบไทยได้มีเวทีสำหรับแสดงผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ตอบสนองนโยบายด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ และยังเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการและผลงาน การออกแบบของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล โดยผลงานที่ได้รับการคัดเลือกตลอดหลายปีที่ผ่านมายืนยันได้ถึงความสำเร็จและกระแสการตอบรับที่ดีทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ      

โดยกรมได้ร่วมมือกับหน่วยงาน Japan Institute of Design Promotion  (JDP) ผู้จัดการตัดสินรางวัล G-Mark จากประเทศญี่ปุ่น เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสิน รวมทั้งสนับสนุนสินค้าที่ได้รับรางวัล DEmark เข้าร่วมการตัดสินรางวัล G-Mark ประเทศญี่ปุ่นด้วย   
 
รางวัล DEmark จะช่วยส่งเสริมผลงานการออกแบบของไทย โดยใช้ตราสัญลักษณ์ DEmark เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่มีความโดดเด่นด้านการออกแบบ สร้างความแตกต่างและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ สินค้าและบริการรวมถึงยกระดับผลงานที่มีการออกแบบดีให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก เพื่อประโยชน์ทางการค้า และเกิดความภาคภูมิใจ เป็นแบบอย่างในการพัฒนาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ของประเทศต่อไป” นายสมเด็จ กล่าว
 
นอกจากนี้ นางสาวประอรนุช ประนุช ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ยังให้กำลังใจรวมถึงเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้สมัคร
 


“คนไทยเก่ง ไม่แพ้ใคร  ถ้ามีโอกาสหรือมีเวทีให้แสดงฝีมือ เราอยู่ในอันดับต้นๆ แน่นอน รางวัล DEmark จะช่วยส่งเสริมให้สินค้าของไทยมีข้อได้เปรียบจากการสร้างความแตกต่าง มีความโดดเด่น และสามารถอยู่ในสนามการแข่งขันสากลได้อย่างน่าภาคภูมิใจ”
 
นางสาวประอรนุช กล่าวต่อว่า โลกกำลังเปลี่ยนไปเร็วมากอย่างไม่ทันตั้งตัว ทุกคนตระหนักได้ถึงผลกระทบของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจากน้ำมือของเรา หรือจากธรรมชาติที่เราไม่สามารถกำหนดกฏเกณฑ์ได้ แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบที่สามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้นได้ ดังนั้น การนำเอาแนวคิด Circular Design มาใช้ในการออกแบบ จึงเป็นการช่วยให้โลกใบนี้สดใสและน่าอยู่ขึ้น
 
“เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการดูแลรักษาโลกและสิ่งแวดล้อม รางวัล Design Excellence  Award 2020 ในปีนี้ จึงจัดขึ้นภายใต้เนวคิด “Circular Design, Cycle of Life ดีไซน์หมุนเวียนเปลี่ยนโลก” เพราะแนวโน้มของการใช้ทรัพยากรโลกอย่างรู้คุณค่ากำลังได้รับการใส่ใจมากขึ้น ระบบเศรษฐกิจได้ก้าวข้ามสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้การออกแบบเศรษฐกิจที่เน้นการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่เป็นวงจรอย่างไม่รู้จบ หัวใจสำคัญ คือ การทำความเข้าใจกับแนวคิดการออกแบบที่สอดรับกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเพื่อลดการใช้วัตถุดิบ การนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ หรือ ระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดโดยไม่มีสิ่งเหลือใช้เกิดขึ้น การออกแบบหรือดีไซน์จึงเปรียบเสมือน ก้าวแรกที่เป็นกุญแจสำคัญในการนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อการพัฒนาการผลิตและการนำไปใช้อย่างยั่งยืน” นางสาวประอรนุช กล่าวถึงที่มาที่ไปของแนวคิดโครงการในปีนี้
 
รางวัล DEmark ในปีนี้ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 7 กลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้นักออกแบบในแต่ละกลุ่มสาขา ได้แสดงไอเดียในการออกแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์  (Industrial Process / Industrial Craft) กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items / Household Items)  กลุ่มความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมผลิตภัณท์แฟชั่นเครื่องแต่งกาย (Creative & Innovative  Fashion /  Apparel / Jewelry / Textile / etc.) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล (Home Appliances / Equipment and Facilities for Office / Digital Appliances  / Equipment / IoT / etc.) กลุ่มผลงานออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) กลุ่มผลงานกราฟิกดีไซน์  (Font / Graphic on Surface / Digital Media / Identity Design) กลุ่มผลงานการออกแบบตกแต่งภายในที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้า พื้นที่ทำงานร่วมกัน อาคารชุด (Hotel / Restaurant / Café / Retail Shop / Co-Working Space / Condominium Project) นางสาวประอรนุช ยังได้เพิ่มเติมอีกว่า ผู้ได้รับรางวัลยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อาทิ
 

  1. ได้รับการสนับสนุนส่งผลงานเข้าประกวดรางวัล G-Mark ประเทศญี่ปุ่น โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. ผลงานที่ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มสาขาและมีการส่งออก จะได้รับรางวัล Prime Minister’s Export Award ประเภท Best Design จากนายกรัฐมนตรี
  3. ผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark และ G-Mark สามารถใช้ตราสัญลักษณ์รางวัลในการ Promote สินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  4. มีโอกาสได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติตามความเหมาะสมของประเภทสินค้า เป็นต้น