Environment, SME, สิ่งแวดล้อม, การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) ผู้ประกอบการ SME

สนค. เผยการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยต่อมาตรการทางการค้าด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อัปเดตล่าสุด 21 ก.ย. 2566
  • Share :
  • 33,456 Reads   

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผย ผู้ประกอบการตระหนักถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ SME ยังขาดความพร้อมด้วยข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะการขาดแรงจูงใจ เนื่องจากผู้บริโภคยังเลือกซื้อสินค้าทั่วไปที่มีราคาถูกกว่า แม้ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะให้ความสนใจซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม

วันที่ 18 กันยายน 2566 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้จัดทำ “โครงการศึกษาแนวทางการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยเพื่อเตรียมพร้อมต่อมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อม: กรณีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” โดยได้สำรวจผู้บริโภค สัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการ และจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ-ภาคเอกชน เพื่อให้ภาครัฐมีข้อมูลในการจัดทำนโยบายและให้ภาคธุรกิจมีข้อมูลในการปรับตัว ตลอดจนรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผลการสำรวจผู้บริโภค สนค. ได้สำรวจประชาชน มีผู้ตอบแบบสอบถาม 5,012 คน พบว่าร้อยละ 81.64 สนใจซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหตุผลคือ (1) ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน (2) ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ (3) ต้องการทดลองสินค้าใหม่ ๆ ขณะที่เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่สนใจซื้อ คือ (1) ราคาแพง (2) สถานที่จำหน่ายน้อย และ (3) ขาดการประชาสัมพันธ์

ส่วนการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าผู้ประกอบการตระหนักและพร้อมจะเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases: GHGs) แต่ผู้ประกอบการ SME มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ทั้งค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิต และค่าใช้จ่ายเพื่อประเมินและขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นอกจากนี้ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ GHGs และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ อีกทั้งผู้บริโภคยังเลือกที่จะซื้อสินค้าทั่วไป ซึ่งมีราคาถูกกว่า ทำให้ขาดแรงจูงใจหรือไม่เห็นประโยชน์ในการปรับตัวเพื่อลดการปล่อย GHGs

นายพูนพงษ์กล่าวว่า ข้อเสนอต่อภาครัฐ ผลการศึกษาพบว่า (1) ด้านนโยบายภาครัฐ ควรมีนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเพิ่มศักยภาพได้มากขึ้น บูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการฐานข้อมูล ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งข้อมูลง่าย พัฒนาแรงงานเพื่อยกระดับศักยภาพ (2) ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) ช่วยเหลือผู้ประกอบการในการประเมินและขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และ (3) ด้านการส่งเสริมการตลาด ควรประชาสัมพันธ์ให้ฉลากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เป็นที่รู้จัก เพิ่มมูลค่า และสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค เผยแพร่สินค้าที่ได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงเครื่องมือหรือกลไกที่ไทยใช้ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมให้ต่างชาติเข้าใจและยอมรับสินค้าไทย และผลักดันการซื้อขายคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นประเด็นหนึ่งในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ทางด้านข้อเสนอต่อภาคธุรกิจ ควรเก็บข้อมูลกิจกรรมธุรกิจทุกขั้นตอน อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน และปริมาณวัตถุดิบ สำหรับเป็นข้อมูลพื้นฐานว่าแต่ละขั้นตอนปล่อย GHGs อย่างไร เพื่อปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจุดขาย เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับการขอรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อาจขอรับรองในสินค้าที่ขายดีก่อน แล้วจึงขยายไปในสินค้าที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากใช้ชุดข้อมูลคล้ายกัน ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ต้องเพิ่มพูนความรู้ ติดตามสถานการณ์รอบด้านที่อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจการค้า เพื่อให้ปรับตัวได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ ประชาชน ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจ และต้องการศึกษารายงานฉบับสมบูรณ์ ดูรายละเอียดได้ ที่นี่ 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH