กสอ. ออก 3 มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกหนี้ชั้นดี พักชำระหนี้ 12 ด. - ลูกหนี้ทั่วไป พักชำระหนี้ 6 ด. - ปล่อยสินเชื่อผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงิน 1 แสนขึ้นไป พักชำระต้น 6 ด.

กสอ. ออก 3 มาตรการเยียวยาลูกหนี้เงินทุนฯ พักชำระหนี้ 6-12 ด. เพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2564
  • Share :

กสอ. ออก 3 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจากผลกระทบโควิด-19 

♦ ลูกหนี้ชั้นดี พักชำระหนี้ 12 ด. - ลูกหนี้ทั่วไป พักชำระหนี้ 6 ด. - ปล่อยสินเชื่อผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงิน 1 แสนขึ้นไป พักชำระต้น 6 ด.

วันที่ 22 มกราคม 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและห่วงใยผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศจำนวนมาก รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 2,300 กิจการได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs

 

โดย กสอ. ออก 3 มาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดังนี้

  1. พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่ชำระเงินปกติ โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือนโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  2. พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 6 งวด โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน
  3. สินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อราย/กิจการ ได้รับสิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการทางการเงินถือเป็นหนึ่งในวัคซีนเอสเอ็มอีที่เป็นเครื่องมือที่ กสอ. ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวการณ์ต่าง ๆ โดยในส่วนของเงินทุนฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Financial Literacy) ประกอบด้วย 1. สำหรับผู้ต้องการขอสินเชื่อ เป็นการเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ รู้จักข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน และธุรกิจ และ 2. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยการตรวจสภาพการเงิน วางแผนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต ซึ่งเงินทุนนั้น นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ยและสินเชื่อแล้ว กสอ. ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องที่และระดับของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามภาวะวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับสิทธิ์ได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุนฯ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

 

อ่านต่อ: