ไฟไหม้โรงงาน, มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน, กระทรวงอุตสาหกรรม

ไฟไหม้โรงงานรีไซเคิลราชบุรี 'ก.อุตฯ' สั่งสอบ บังคับใช้กม.-ย้ายด่วน อุตฯ จังหวัด

อัปเดตล่าสุด 17 มิ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,512 Reads   

กระทรวงอุตสาหกรรม สั่งตรวจสอบ-บังคับใช้กฎหมาย เหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม และดูแลประชาชนในพื้นที่โดยรอบ พร้อมสั่งย้ายด่วน อุตฯ จังหวัดราชบุรี  

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  สั่งการผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่บูรณาการร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้โรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งขณะนี้สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว  เร่งตรวจสอบ-บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง  ให้โรงงานนำของเสียที่เกิดจากเพลิงไหม้ และของเสียที่ตกค้างในพื้นที่โรงงานส่งไปบำบัดหรือกำจัด ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมทั้งกำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งปัญหาจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ น้ำเสียที่เกิดจากการดับไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนในพื้นที่ต้องไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้   พร้อมสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี ออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่   

นายกอบชัย  สังสิทธิสวัสดิ์  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้มอบหมายนายเดชา จาตุธนานันท์  ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม  รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดราชบุรี เพื่อหาสาเหตุและผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้อาคารโรงงานผลิตสีและโกดังจัดเก็บกากของเสีย โรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล อ.จอมบึง จ.ราชบุรี พร้อมสั่งการให้ศูนย์ตรวจวิเคราะห์ฯ ราชบุรี ตรวจวัดค่ามลพิษที่กระจายอยู่ในอากาศบริเวณโดยรอบโรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากควันพิษ โดยให้ตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณโดยรอบโรงงานทุกวัน จนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีมลพิษจากเพลิงไหม้ตกค้าง พร้อมกันนี้ได้แจ้งทีมงานดับเพลิงให้จัดทำแนวคันดินป้องกันมิให้น้ำและโฟมที่ใช้ในการดับเพลิงไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะโดยรอบโรงงาน พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างน้ำบริเวณรอบโรงงาน เพื่อทดสอบหาสารปนเปื้อนอย่างเข้มงวด เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ 

โรงงานแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เป็นโรงงานที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับการกำจัดและบำบัดของเสียอุตสาหกรรม ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) ทั้งหมด 9 ใบอนุญาต ประกอบด้วย การบดย่อยพลาสติก อัดเศษโลหะ และกระดาษ จำนวน 3 ใบอนุญาต การคัดแยกและฝังกลบของเสียไม่อันตราย จำนวน 1 ใบอนุญาต และรีไซเคิลสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว อีกจำนวน 5 ใบอนุญาต ซึ่งปัจจุบันโรงงานไม่มีการประกอบกิจการโรงงานหรือรับของเสียเข้ามาดำเนินการแต่อย่างใด และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อขนย้ายของเสียที่ยังตกค้างในพื้นที่ออกไปบำบัดหรือจำกัด

ล่าสุดได้รับรายงานว่า สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว  ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บและได้สั่งการตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 ให้โรงงานเร่งนำของเสียที่เกิดจากเพลิงไหม้ และของเสียที่ตกค้างในพื้นที่โรงงานส่งไปบำบัดหรือกำจัด ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน 

“ทั้งนี้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงโรงงาน สามารถติดตามข้อมูลระดับมลพิษในอากาศบริเวณที่เกิดเหตุได้ ผ่านจอแสดงผลการตรวจวัดมลพิษที่ติดตั้งอยู่ที่รถตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ปฏิบัติการตรวจวัดอยู่ในพื้นที่ และสามารถติดตามผลการตรวจวัดผ่านแอปพลิเคชัน POMS บนโทรศัพท์มือถือได้แบบ Real time โดยติดตั้งได้ทั้งระบบ IOS และ Android และเลือกดูผลการตรวจวัดจากรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ (Mobile) ซึ่งจะแสดงผลการตรวจวัดค่าคาร์บอนมอนอกไซด์(CO) ไนโตรเจนไดออกไซด์(NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2) ค่าก๊าซไข่เน่า(H2S) โอโซน(O3) สารอินทรีย์ระเหยง่าย(โซเวนท์ : VOCs) และฝุ่นPM2.5 เพื่อเป็นการเฝ้าระวังแจ้งเตือนผลกระทบที่อาจเกิดกับประชาชนได้อย่างทันท่วงที” นายกอบชัยฯ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวเพิ่มเติม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH