ออกหนังสือรับรองสินค้า Form RCEP กรมการค้าต่างประเทศ (คต.)

พร้อมรับ RCEP กรมการค้าฯ เปิดระบบออนไลน์ "ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออก-ใบรับรองสินค้า" 16 ธ.ค. 64 นี้

อัปเดตล่าสุด 17 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 712 Reads   

กรมการค้าต่างประเทศพร้อมรับ RCEP เชิญชวนผู้ประกอบการทดสอบระบบออกหนังสือรับรองสินค้า (Form RCEP) พร้อมเปิดระบบตรวจต้นทุน และระบบ Self-Certification ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

วันที่ 16 ธันวาคม 2564 นายชุตินันท์ สิริยานนท์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิก 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา สปป.ลาว สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และนิวซีแลนด์ โดยกรมการค้าต่างประเทศซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) และกำกับดูแลการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ได้เตรียมระบบต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไว้พร้อมแล้ว 

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า ในการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง RCEP กรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำระบบที่เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อยแล้ว 3 ระบบ ได้แก่ (1) ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ที่อยู่ระหว่างการเปิดระบบเพื่อทดสอบและรับฟังข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการที่ได้ลองใช้งานเสมือนจริงแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ จะเปิดระบบเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ Form RCEP ได้จริง ในวันที่ 1 มกราคม 2565 โดยผู้ประกอบการสามารถขอรับ Form RCEP ได้ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2565 เป็นต้นไป (2) ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และ (3) ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอตรวจต้นทุนของสินค้าส่งออกและยื่นคำขอขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาตผ่านทั้ง 2 ระบบดังกล่าวได้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป 

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเพิ่มเติมว่า สำหรับระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) กรมฯ ได้นำนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การใช้ระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) และการพิมพ์ลงบนกระดาษ A4 รูปแบบพิเศษที่สามารถป้องกันการปลอมแปลงโดยมี QR Code เพื่อยืนยันความถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาในการรับบริการ รวมทั้งช่วยลดการตรวจสอบย้อนกลับจากศุลกากรปลายทาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 85 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใช้งานระบบได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยผู้ส่งออกที่ต้องการศึกษาข้อมูลรายละเอียดและหลักเกณฑ์ในการออก Form RCEP สามารถศึกษาได้จากประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ในเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th

สำหรับระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs ผู้ประกอบการต้องดำเนินการยื่นคำขอตรวจต้นทุนผ่านระบบและแนบเอกสารหลักฐานตามการดำเนินการยื่นคำขอตรวจต้นทุนตามปกติ โดยหากเป็นการส่งออกไปยังประเทศเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น ผู้ส่งออกจำเป็นต้องตรวจสอบรายการสินค้าจากประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ว่าเป็นรายการสินค้าตามภาคผนวก จ ที่จะต้องมีเงื่อนไขในการตรวจต้นทุนเพิ่มเติมหรือไม่ประกอบด้วย 

สำหรับระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) ประกาศกรมการค้าต่างประเทศ เรื่อง การขึ้นทะเบียนและการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองตามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ขึ้นทะเบียนว่าต้องเคยใช้การรับรองตนเองของอาเซียน (AWSC Self-Certification) หรือมีประสบการณ์ในการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในการส่งออกไปยังประเทศสมาชิก RCEP ประเทศใดประเทศหนึ่งมาแล้ว และเมื่อได้รับการอนุมติแล้ว จะมีอายุทะเบียน 2 ปี โดยผู้ส่งออกสามารถยื่นคำขอผ่านเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ หรือ http://self-cert.dft.go.th/self-cert/home/login2.aspx ได้แล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป โดยผู้ส่งออกที่ได้รับการอนุมัติเป็นผู้ส่งออกที่รับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองภายใต้ความตกลง RCEP จะสามารถใช้สิทธิดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565

รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเน้นย้ำว่าสิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTAs ถือเป็นอาวุธสำคัญสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตกลง RCEP ที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 15 ประเทศ เป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้ การลดกำแพงภาษีระหว่างประเทศสมาชิกจะช่วยเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกไทยทั้งในส่วนของการเข้าถึงตลาดที่กว้างกว่าเดิม และในส่วนของการแสวงหาวัตถุดิบมาเพื่อต่อยอดการผลิตสินค้าและส่งออกได้ต่อไป ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม ศึกษาและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลง RCEP เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงดังกล่าวได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความตกลง RCEP ได้เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ส่งออกของไทยในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดโดยการใช้ระบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification by approved exporter) ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะสามารถจะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ส่งออก เนื่องจากสามารถรับรองบนเอกสารทางการค้า เช่น Invoice ได้ด้วยตนเอง

กรมการค้าต่างประเทศขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมทดสอบการใช้งานเสมือนจริงของระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form RCEP) ได้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป ผ่านทางระบบการให้บริการ http://demoedi.dft.go.th/ และใช้ประโยชน์จากการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองโดยผ่านระบบ Self-Certification http://self-cert.dft.go.th/self-cert/home/login2.aspx ของกรมการค้าต่างประเทศ โดยกรมการค้าต่างประเทศยินดีที่จะให้คำปรึกษา และรับฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงและยกระดับการบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างเต็มที่

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงานสัมมนาในรูปแบบ Webinar ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “สิทธิประโยชน์ทางการค้า RCEP กับโอกาสทางการค้าการลงทุน” ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยผู้สนใจสามารถรับชมการสัมมนาย้อนหลังได้ที่ facebook กรมการค้าต่างประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง RCEP ได้ที่ สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ โทร. 1385

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH