อุตสาหกรรมเหล็ก, ผู้ผลิตเหล็กไทย, Anti-Circumvention, มาตรการ AD, มาตรการ AC, กรมการค้าต่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, Anti-Dumping, Steel, ประกาศ ทุ่มตลาด เหล็ก 2566, มาตรการ AD คือ, ยกเลิก AD เหล็ก, AD ทุ่มตลาด

พาณิชย์ เตรียมเปิดไต่สวน AC การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กเคสแรกของไทย

อัปเดตล่าสุด 17 ส.ค. 2566
  • Share :
  • 1,426 Reads   

กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) พิจารณาเปิดไต่สวนสินค้าเหล็กที่หลบเลี่ยงมาตรการ AD มุ่งเน้นการนำเข้าที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของไทยรวมถึงการกำกับดูแลการใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti - Circumvention : AC)

โดย อธิบดี คต. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาการไต่สวนและเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) เตรียมเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการฯ พิจารณาเปิดการไต่สวนมาตรการ AC หากคณะกรรมการฯ พบว่ามีมูลการนำเข้าสินค้าเหล็กเพื่อหลบเลี่ยงการชำระอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti - Dumping : AD) หรืออากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) จะเปิดไต่สวนในทันที ทั้งนี้ มาตรการ AC คือมาตรการตอบโต้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ที่นำสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD มาผ่านกระบวนการหรือดำเนินการเพื่อหลบเลี่ยงการชำระอากร อาทิ นำสินค้ามาแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อย หรือส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD ผ่านประเทศหรือผู้ส่งออกรายอื่นที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD เป็นต้น

นายรณรงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคณะกรรมการฯ มีมติให้เปิดไต่สวน AC จะถือเป็นเคสแรกในประเทศไทย ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ ในปี 2562 ที่ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้มาตรการ AC  เข้ามา ซึ่งต่างจากการเปิดไต่สวนมาตรการ AD ที่ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว โดยการไต่สวนดังกล่าวจะถูกพิจารณาโดยคณะกรรมการ ทตอ. อันประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐศาสตร์ การบัญชี นิติศาสตร์ การเกษตร และการอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าคณะกรรมการฯ มีการพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกมิติ ด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ได้มาตรฐานสากล และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

นายรณรงค์ฯ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า หากผู้ประกอบการรายใดพบว่ามีการนำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายการหลบเลี่ยงมาตรการ AD/CVD สามารถขอเข้ารับคำปรึกษาและติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมการค้าต่างประเทศ กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 5086 หรืออีเมล [email protected]

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH