กระทรวงอุตสาหกรรม, ไทย-จีน เปั้นนิคมอุตสาหกรรม พัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน

ไทย-จีน เซ็น MOU ปั้นนิคมฯ ส่งเสริมการลงทุน ตามนโยบาย “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ของจีนเชื่อมโยงสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2565
  • Share :
  • 1,410 Reads   

“รมว.อุตฯ” มอบ กนอ.เร่งดำเนินการประสานงาน หลังกระทรวงอุตสาหกรรม (MOI) จับมือ กระทรวงพาณิชย์แห่งสาธารณประชาชนจีน (MOFCOM) ลงนามบันทึกความเข้าใจตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน 

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม แห่งราชอาณาจักรไทย และ กระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และสนับสนุนกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมนโยบายความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road initiatives) เชื่อมโยงสู่นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เร่งศึกษาและดำเนินการประสานงานต่อไป

ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวเสริมว่า การลงนาม MOU ครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสนับสนุนขีดความสามารถด้านความร่วมมือของอุตสาหกรรมด้วยการแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์ อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าของห่วงโซ่ในภาคการผลิต ขณะเดียวกันยังศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทั้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอีกด้วย ซึ่ง กนอ.จะเร่งดำเนินการประสานงานต่อไป

“กนอ.จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการลงทุน ข้อบังคับ นโยบาย และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พร้อมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุน การจัดสัมมนาสำหรับภาคธุรกิจ และการจับคู่ธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทย-จีน รวมถึงการดำเนินงานในด้านอื่น ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน  ซึ่ง MOU มีผลบังคับใช้ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม” นายวีริศ กล่าว

นโยบายหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงตลาดการค้าระหว่างประเทศจีนและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยรัฐบาลจีนมุ่งหวังให้เป็นเส้นทางสายไหม (Silk Road) เส้นใหม่ เพิ่มเส้นทางขนส่งทางทะเล เพื่อเชื่อมโยงประเทศในแถบชายฝั่งรวมถึงทวีปแอฟริกาด้วย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH