สวทช. หนุน ITAP ช่วยผู้ประกอบการแตกไลน์ธุรกิจ พัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แก่ บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ที่แตกไลน์ธุรกิจ นำเทคโนโลยีระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร หรือ Plant Factory มาใช้กับการปลูกพืชออร์แกนิกในห้องพักอพาร์ทเมนท์ใจกลางเมืองของบริษัทฯ ทำให้ได้ต้นแบบห้องที่ปลูกผักและผลไม้ออร์แกนิกชนิดต่าง ๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี Kale และสมุนไพรเมืองหนาว อาทิ พาสเลย์และดอกไม้กินได้ สำหรับไว้ปั่นทานได้ทุกฤดูกาล พร้อมเป็นสถานที่ดูงานของลูกค้าบริษัทฯ ที่สนใจจะทำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารได้เห็นต้นแบบของธุรกิจประเภทนี้ เพราะผักและผลไม้ออแกนิกที่ปลูกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงในตลาด ราคาแพง และการลงทุนของเทคโนโลยีนี้เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถจะพอลงทุนได้ด้วยกำลังของตัวเอง
นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน ด้านโรงเรือนอัจฉริยะ เป็นโครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและกลุ่มเกษตรกรด้านผักและผลไม้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุค “เกษตร 4.0” เป็นการเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมของประเทศให้ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP: ไอแทป) โดย รองศาสตราจารย์วันชัย แหลมหลักสกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในการช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร หรือ Plant Factory ทำให้ห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ขนาด 10 ตารางเมตรในอพาร์ทเมนท์ใจกลางเมือง สามารถเป็นต้นแบบห้องที่ปลูกผักและผลไม้ออร์แกนิกชนิดต่าง ๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี / Kale / สมุนไพรเมืองหนาว เช่น พาสเลย์และดอกไม้กินได้ สำหรับไว้ปั่นทานหรือเป็นน้ำผักสุขภาพเพื่อดื่มทานเองได้ทุกฤดูกาล แล้วยังเป็นสถานที่ที่ให้ลูกค้าของบริษัทฯ ที่มีความสนใจจะทำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารได้เห็นต้นแบบของธุรกิจประเภทนี้ด้วย เพราะผักและผลไม้ออร์แกนิกที่ปลูกในระบบนี้เป็นพืชที่มีมูลค่าสูงในตลาด ราคาแพง และการลงทุนของเทคโนโลยีนี้เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถจะพอลงทุนได้ด้วยกำลังของตัวเอง
รองศาสตราจารย์วันชัย แหลมหลักสกุล ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การปลูกพืชในอาคารนั้นเหมาะสมต่อการเพาะปลูกผักและผลไม้บางชนิด ส่วนใหญ่เป็นผักใบ และผักผลไม้เมืองหนาว เช่น ผักสลัด สมุนไพร และสตรอว์เบอร์รี เป็นต้น จึงยังไม่หลากหลายและมีขนาดตลาดที่จำกัดอยู่เฉพาะผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น โรงพยาบาลเอกชนระดับบนที่ต้องการผักและผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อให้บริการผู้ป่วย ร้านอาหารและโรงแรมที่ให้บริการอาหารเพื่อสุขภาพ ครัวเรือนที่มีรายได้ระดับปานกลางค่อนไปทางสูง เป็นต้น แต่ในต่างประเทศกระแสซุปเปอร์มาเก็ตปลูกผักเองในอาคารตามห้างสรรพสินค้าหรือตามสถานีรถไฟใต้ดินกำลังได้รับความนิยมทั่วทั้งยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งจะเน้นปลูกผักที่มีคุณภาพสูง อุดมด้วยสารอาหาร โดยจุดเด่นคือ ผักที่ปลูกแบบนี้ทั้งสด สะอาด ปลอดภัยจากยาฆ่าแมลง แถมยังมีรสชาติกรอบอร่อย กว่าผักที่ปลูกแบบเดิม
ระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร
“ระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (Plant Factory) ในไทย โดยทั่วไปมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ผลิตพืชผักและผลไม้เมืองหนาว เนื่องจากข้อจำกัดด้านภูมิอากาศให้มีการเจริญเติบโตที่ดี และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยควบคุมและใช้ปัจจัยการผลิต เช่น การให้แสง การให้น้ำ แร่ธาตุอาหาร และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ในขณะที่ปลดปล่อยของเสียสู่สภาพแวดล้อมน้อยที่สุด และใช้ต้นทุนในการผลิตต่ำ เนื่องจากระบบฟาร์มเกษตรในอาคารนั้นเป็นระบบที่ประหยัดการใช้ทรัพยากร ทั้งน้ำ แร่ธาตุอาหาร พื้นที่เพาะปลูก และแรงงาน รวมถึงยังสามารถควบคุมปริมาณและคุณภาพผลผลิตได้ตามที่ต้องการ จึงช่วยลดความผันผวนในด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตได้ดีกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม จึงเป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของภาคการเกษตรที่ค่อย ๆ มีบทบาทในเชิงพาณิชย์มากขึ้นในไทย โดยเทคโนโลยีระบบฟาร์มเกษตรของบริษัทฯ สามารถควบคุมควบคุมสภาพแวดล้อมด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น อุณหภูมิ แสงเทียม (LED) เพื่อการสังเคราะห์แสงของพืช ซึ่งกระบวนการสังเคราะห์แสงนี้จะผ่านแสงจากหลอดไฟ LED ที่มีการควบคุมความเข้มของแสง คลื่นความถี่และระยะเวลาของแสงในแต่ละช่วงการปลูก เพื่อให้มีความคลายคลึงกับการสังเคราะห์แสงจากดวงอาทิตย์ ทั้งนี้การใช้แสง LED จะช่วยลดระยะเวลาการปลูกลงได้ครึ่งหนึ่งของระยะเวลาการเติบโต อีกทั้งยังมีการควบคุมลมและความชื้นในอากาศ หากความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศต่ำกว่ากำหนด ระบบจะเชื่อมต่อกับระบบพ่นละอองน้ำแบบพิเศษเพื่อปรับความชื้นสัมพัทธ์ให้อยู่ในช่วงที่กำหนด โดยตั้งค่าการทำงานผ่านแอปพลิเคชัน สามารถปรับตั้ง แก้ไข ควบคุมการทำงานผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตจากนอกสถานที่ได้ โดยระบบจะควบคุมพารามิเตอร์ต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด”
ผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวต่อว่า เทรนด์การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับของผู้บริโภค เป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของระบบฟาร์มเกษตรในอาคารในไทย โดยระบบฟาร์มเกษตรในอาคารยังใช้เงินลงทุนสูงกว่าการเกษตรดั้งเดิม ดังนั้นผู้ประกอบการควรเลือกเพาะปลูกพืชที่ให้กำไรสูง แต่เทคโนโลยีการปลูกพืชในอาคารของไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากผู้ให้บริการ Solution ของไทยมีความหลากหลายมากขึ้น ตั้งแต่ผู้วางระบบไฟ LED ระบบการให้น้ำ ระบบปรับสภาวะอากาศสำหรับปลูกพืช โดยการพัฒนา Solution ได้เองในไทยจะส่งผลให้ต้นทุนเทคโนโลยีด้านนี้ลดลง และเกิดความแพร่หลายของ Plant Factory ในไทยมากขึ้น
ด้าน นายพีรพงษ์ ตันตยาคม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัท ลอฟท์ บิวเดอร์ จำกัด ขอรับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการเริ่มพัฒนาธุรกิจการเกษตรในอนาคตด้วยการพัฒนาระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร (Plant Factory) แบบอินทรีย์ ด้วยการนำเทคโนโลยีและระบบควบคุมสภาวะการเพาะปลูกที่ทันสมัย เช่น แสง อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ น้ำ และสารอาหารพืชแบบอัจฉริยะ เพื่อให้บริษัทสามารถปลูกพืชผักผลไม้เมืองหนาวในเมืองที่มีคุณภาพได้ตลอดทั้งปี ผลที่ได้รับจากการนำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารมาใช้ในบริษัทฯ คือ ได้นวัตกรรมการปลูกสตรอว์เบอร์รีอินทรีย์ในอาคารที่กรุงเทพฯ รวมทั้งบริษัทฯ ยังสามารถปลูกให้ผลผลิตตลอดทั้งปี ไม่มีฤดูกาล มีคุณภาพทางกายภาพ ทางเคมีของผลผลิต สะอาด ปลอดภัย ปราศจากสารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งแตกต่างจากการปลูกโดยทั่วไปที่จะออกผลผลิตตามฤดูกาลและต้องใช้น้ำและสารเคมีและยาปราบศัตรูพืชเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังลดต้นทุนด้านการขนส่งเนื่องจากปลูกใกล้แหล่งจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค รวมถึงยังเป็นศูนย์สาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคาร เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจก่อสร้างเป็นหลัก เมื่อดำเนินการโครงการแล้วเสร็จ บริษัทฯ ได้ใช้เป็นห้องสาธิตระบบฟาร์มเกษตรในอาคารให้กับลูกค้าของบริษัทฯ และผู้สนใจในการนำระบบฟาร์มเกษตรในอาคารไปใช้ในธุรกิจ ร้านอาหาร และบ้านอยู่อาศัย เป็นต้น ส่งเสริมให้บริษัทฯ ได้งานก่อสร้างเพิ่มมากขึ้น
ผู้ประกอบการที่สนใจเทคโนโลยีและขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน ด้านโรงเรือนอัจฉริยะ สามารถติดต่อขอรับการบริการได้ที่ โปรแกรม ITAP สวทช. โทร 0 2 564 7000 ต่อ 1301 หรืออีเมล [email protected]