DIPROM Startup Connect ปี 4 สตาร์ทอัพคอนเน็คปี 4 สร้างนวัตกรรมร่วม เสิร์ฟดีมานด์อุตสาหกรรมยุคใหม่

ดีพร้อม ผนึกบิ๊กเอกชน ดันสตาร์ทอัพคอนเน็คปี 4 สร้างนวัตกรรมร่วม เสิร์ฟดีมานด์อุตสาหกรรมยุคใหม่

อัปเดตล่าสุด 25 เม.ย. 2566
  • Share :
  • 729 Reads   

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับภาคอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี ผนึกความร่วมมือภาคเอกชนรายใหญ่ อาทิ ซีพีเอฟ ปตท. ไทยคม และอินโนบิก ดันสตาร์ทอัพดีพเทค (DIPROM Startup Connect ปี 4) ปั้นนวัตกรรมร่วม (Co-Creation) ตอบโจทย์ความต้องการภาคเอกชน ส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ ขยายผลสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าส่งเสริมสตาร์ทอัพ 25 กิจการ คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท

วันที่ 25 มีนาคม 2566 นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่นั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีการยกระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลได้กำชับทุกฝ่ายให้เร่งดำเนินการ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทย และเป็นหนึ่งในพันธกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญ ภายใต้การนำของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบกับนโยบายของ ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเข้าสู่วิถีใหม่ โดยให้ความสำคัญในการยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรมควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย ‘หัว’ และ ‘ใจ’ โดยเฉพาะเน้นการปรับเปลี่ยนธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ รวมถึงการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจในอนาคตต่อไป

นายใบน้อย กล่าวต่อว่า จากนโยบายดังกล่าว ในปี 2566 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ได้มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับธุรกิจภาคอุตสาหกรรม ให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้นผ่านนโยบาย “ดีพร้อมโต โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน” โดยหนึ่งในนั้น คือ โตได้ (Start) ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือสตาร์ทอัพ (Startup) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการดึงจุดเด่นด้านศักยภาพการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จนเกิดเป็นนวัตกรรมที่สามารถสนับสนุนและแก้ปัญหาให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงมาต่อยอดพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น โดยที่ผ่านมา ดีพร้อม (DIPROM) ได้ติดอาวุธเพิ่มเติมทักษะการประกอบการ เพื่อให้เกิดโมเดลธุรกิจที่พร้อมต่อยอดกิจการและการเชื่อมโยงไปยังแหล่งเงินทุนคุณภาพ (CVC) สำหรับผู้ประกอบการในระยะเติบโต ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงตลาดสำหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค (DIPROM Startup Connect) ซึ่งปีนี้ ดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจเริ่มต้น โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมสนับสนุนต่าง ๆ รวมถึงเป็นเวทีให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเริ่มต้นได้นำเสนอนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และส่งเสริมให้ธุรกิจขยายตลาดไปในต่างประเทศได้

โดยในปี 2566 นี้ กลุ่มเป้าหมายหลักของ ดีพร้อม สตาร์ทอัพ คอนเน็ค ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีเชิงลึก หรือดีพเทค หรือเทคโนโลยีทั่วไปที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร วัสดุชีวภาพ และพลังงาน โดยมีจุดเด่นที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมร่วม หรือ Co-Creation ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรเอกชนรายใหญ่ในการทดลองใช้นวัตกรรม หรือโซลูชั่นส์ในตลาดจริง (Proof of Concept : POC) ถือเป็นมิติใหม่ของการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่ให้พันธมิตรเอกชน หรือลูกค้ารายใหญ่เข้ามามีส่วนร่วมสร้างและพัฒนาสินค้า หรือบริการของสตาร์ทอัพให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและตอบโจทย์ความต้องการมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดร่วมกันในอนาคตต่อไป โดยมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเมื่อปีที่แล้วเข้าร่วมต่อยอดกิจกรรมในปีนี้ จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) และบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรเอกชนยักษ์ใหญ่รายใหม่เข้าร่วมเพิ่มเติมอีก จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แมกซ์ เวนเจอร์ส จำกัด บริษัท บางกอกอินดัสเทรียล แก๊ส จำกัด และบริษัท ฮอนด้าเทรดดิ้ง เอเชีย จำกัด ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 300 ล้านบาท และสามารถเชื่อมโยงสตาร์ทอัพ 25 กิจการ ไปยังแหล่งเงินทุนคุณภาพ (Corporate venture capital : CVC) ในลำดับถัดไป ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพได้รับการคัดเลือก จำนวน 17 บริษัท เพื่อนำเสนอโมเดลธุรกิจ โดยเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจร่วมลงทุนกว่า 176 ล้านบาท และเกิดการขยายฐานลูกค้าและสร้างนวัตกรรมร่วม หรือ Co-Creation กว่า 76.5 ล้านบาท นายใบน้อย กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH