อุตฯ จับมือ เมติฯ ดันเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ IoT, Big Data เชื่อมต่อรับส่งข้อมูล กำกับดูแลโรงงานเสี่ยง

อุตฯ จับมือ เมติฯ ดันเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอัจฉริยะใช้กำกับโรงงานเสี่ยง

อัปเดตล่าสุด 15 มี.ค. 2565
  • Share :
  • 946 Reads   

อุตฯ จับมือ เมติฯ ดันเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ IoT, Big Data เชื่อมต่อรับส่งข้อมูล กำกับดูแลโรงงานเสี่ยง

วันที่ 15 มีนาคม 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) ประเทศญี่ปุ่นได้มาเยือนประเทศไทย และเข้าหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมระหว่างวันที่ 13-16 มกราคม 2565 โดยมีประเด็นหารือเกี่ยวกับความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี การสร้างขีดความสามารถและการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOC) Strengthening the Smart Industrial Safety in Thailand เพื่อการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีระบบความปลอดภัยทางอุตสาหกรรมอัจฉริยะจากญี่ปุ่น ผ่านการฝึกอบรมภายใต้หลักสูตรของสมาคม Thailand – Japan Smart Industrial Safety Consortium (TJ-SISC) โดยการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีขึ้น (up-skill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (re-skill) ด้วยการแนะนำการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation : DX) และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) 

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขานรับนโยบาย รมว.สุริยะฯ โดยเร่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้บันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOC) Strengthening the Smart Industrial Safety in Thailand และได้จัดให้มีการประชุมหารือระหว่างผู้บริหารของ กรอ. และ METI เพื่อหาแนวทางที่จะส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะสู่โรงงานอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ซึ่ง กรอ. จะมีแนวทางการดำเนินการปรับกฎหมายให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและลดการใช้เจ้าหน้าที่ในการตรวจกำกับดูแล โดยส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์ การเชื่อมต่อสัญญาณให้อุปกรณ์สามารถรับ-ส่งข้อมูล (Internet of Things : IoTs) หรือการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ในการตรวจโรงงาน และยังเป็นการยกระดับโรงงานให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการผลิต อีกทั้งยังเป็นการสร้างความโปร่งใสในการประกอบกิจการให้ชุมชนโดยรอบ หรือภาคประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเป็นการสร้างความมั่นใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนโดยรอบได้อีกด้วย

ทั้งนี้ในปี 2564 กรอ. และ METI ได้ขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภาควิชาการ และหน่วยงานภาครัฐระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยมีการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับทักษะที่มีให้ดีขึ้น (up-skill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (re-skill) ในหลักสูตร Digital Technology for Process Industry - (Utilization of AI/IoTs) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการแนะนำการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล (Digital Transformation : DX) และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Data engineering (AI/IoTs/DX) เป็นต้น อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH