พพ. เทงบ 430 ลบ. ชวน ผปก. อุตสาหกรรม-เกษตร-ขนส่ง ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน รับสมัครภายใน 21 ม.ค. 65
พพ. เทงบ 430 ลบ. ขับเคลื่อน 2 โครงการอนุรักษ์พลังงาน จูงใจลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานภาคอุตสาหกรรม-เกษตร-ขนส่ง ลดปล่อยคาร์บอนแสนตันต่อปี เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ ภายในวันที่ 21 มกราคม 2565
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า พพ. อยู่ระหว่างการเร่งขับเคลื่อนมาตรการเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และขนส่ง ผ่าน 2 โครงการหลัก ได้แก่ โครงการสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักร วัสดุเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในผู้ประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร โดยมีวงเงินสนับสนุนรวมกว่า 430 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม อาคาร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม ธุรกิจ Startup และภาคขนส่ง ได้เกิดลงทุนปรับเปลี่ยน ปรับปรุง เครื่องจักรวัสดุ อุปกรณ์เพื่อการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม และพร้อมผลักดันให้หน่วยงานที่ร่วมโครงการ เป็นต้นแบบมาตรการอนุรักษ์พลังงานที่ประสบผลสำเร็จ เพื่อขยายผลต่อไป
ทั้งนี้ วงเงินสนับสนุนดังกล่าว พพ. จะสนับสนุนเงินลงทุนแบ่งเป็นกลุ่มโรงงาน อาคารควบคุม 20% กลุ่มผู้ประกอบการเกษตรกร กลุ่มธุรกิจ Startup จะสนับสนุนเงินลงทุน 30% โดยจะสนับสนุนวงเงินสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาทต่อราย และสนับสนุนเงินในภาคขนส่ง 30% วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งนอกจากผลักดันให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานที่เป็นรูปธรรมแล้ว จะช่วยกระตุ้นตลาดการซื้อขายเครื่องจักร อุปกรณ์ วัสดุเพื่อการประหยัดพลังงาน สร้างเงินลงทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2,300 ล้านบาท เกิดผลประหยัดพลังงานในภาพรวมสูงถึง 764 ล้านบาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 แสนตันคาร์บอนต่อปี และเป็นก้าวสำคัญผลักดันให้ประเทศไทยพร้อมก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคตอย่างยั่งยืน
โดยตัวอย่างมาตรการส่งเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ผ่านมา เช่น มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องทำความเย็น (Chiller) จะช่วยให้เกิดผลประหยัด 35% มาตรการปรับเปลี่ยนปั๊มลม เกิดผลประหยัด 45% มาตรการเปลี่ยนมอเตอร์ประสิทธิภาพสูง เกิดผลประหยัด 25% และในส่วนของภาคขนส่ง มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ ประหยัด 60% มาตรการเปลี่ยนตู้บรรทุก ประหยัด 40% เป็นต้น โดยมีระยะคืนทุนเฉลี่ย 3 ปี
ดร.ประเสริฐ กล่าวเพิ่มว่า ในส่วนมาตรการส่งเสริมด้านการเงินเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ที่ผ่านมา พพ. ได้มีความร่วมมือกับสถาบันเงินชั้นนำ ได้แก่ การลงนาม MOU ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ซึ่งจะร่วมกันให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME โดย พพ. จะสนับสนุนความรู้ด้านมาตรการอนุรักษ์พลังงาน-พลังงานทดแทน และ SCB จะให้ข้อมูลการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และความเสี่ยงจากการลงทุน เป็นต้น
การลงนาม MOU ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. จะร่วมกันสนับสนุนให้ เกษตรกร บุคคลทั่วไป ธุรกิจชุมชน ให้เกิดการลงทุนโครงการใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด และการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการลงนาม MOU ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SMED Bank เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน สร้างองค์ความรู้ด้านอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน ต่อไป
สำหรับหน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการฯ ครั้งนี้ พพ. ได้เปิดรับสมัครทั้ง 2 โครงการฯ ดังกล่าว ไปจนถึงวันที่ 21 มกราคม 2565 หรือสามารถสอบถามได้ที่โทร. 0 2223 0021 -9 ต่อ 1036 ,1810 1132, 1504
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ส่งออกไทย 2564 เดือน มิ.ย. ขยายตัว 43% สูงสุดรอบ 11 ปี อีกครั้ง
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- สรุปยอดขายรถยนต์ 2564 ครึ่งปีแรก
- วิกฤตซัพพลายเชนโลก: ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อธุรกิจ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH