‘พาณิชย์’ ร่วมวงอาเซียน ถกเกาหลีใต้ อัปเกรดความตกลง AKFTA
'พาณิชย์' ร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 35 ผ่านระบบประชุมทางไกล ยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) เล็งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ รองรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IRs) พร้อมร่างแผนช่วยเสริมแกร่งสตาร์ทอัพ เตรียมเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ เคาะกันยายนนี้
วันที่ 15 สิงหาคม 2564 นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 35 ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้หารือข้อมติของคณะกรรมการดำเนินงานความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA-IC) ที่ให้ศึกษาการปรับปรุงความตกลง AKFTA ทุกประเด็นอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงความตกลง RCEP ที่ทั้งสองฝ่ายเป็นภาคีกำลังจะมีผลบังคับใช้ต้นปี 2565 ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมั่นใจว่าการเจรจายกระดับ AKFTA จะเพิ่มประโยชน์ให้การค้าทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง โดยมอบให้ฝ่ายเลขาธิการอาเซียนเร่งยกร่างกรอบการศึกษา (concept note) ให้ครอบคลุมประเด็นครบถ้วน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ขอให้คณะอนุกรรมการว่าด้วยภาษีศุลกากรและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ AKFTA เร่งหารือเรื่องการปรับโอนพิกัดศุลกากรของตารางลดภาษีและตารางกฎถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้าเป็นระบบฮาร์โมไนซ์ ฉบับปี 2022 รวมทั้งเรื่องการพัฒนาระบบการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และการส่งเสริมให้เอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลง AKFTA มากขึ้น
นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้หารือประเด็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะรายงานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-เกาหลีใต้ ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ได้แก่ 1) การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKIIC) ในการประชุมผู้นำอาเซียน-เกาหลีใต้ ครั้งที่ 22 ในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพัฒนาด้านนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ระหว่างอาเซียน-เกาหลีใต้ ให้สอดรับกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IRs) และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 2) การจัดทำแผนงานนโยบายสตาร์ทอัพระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ เพื่อพัฒนาความร่วมมือในเรื่องนโยบายและกฎระเบียบ และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในภูมิภาคต่อไป
ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ขยายตัว ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2564) การค้าระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ มีมูลค่า 7,799 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 33.4% โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้มูลค่า 2,907 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.5% สินค้าส่งออกสำคัญ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น ขณะที่ไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ มูลค่า 4,892 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 31.6% สินค้านำเข้าสำคัญ เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
#FTA #FTA อาเซียน - เกาหลีใต้ #ความตกลง FTA #ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ #AKFTA #ความตกลง AKFTA #asean-korea free trade agreement (akfta) #เอฟทีเอ #ส่งออกไทย #กรมเจรจาฯ #กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ #กระทรวงพาณิชย์
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ปี 2564
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH