เปิด PPP 1.4 หมื่นล้าน “รถแทรม-เมล์ไฟฟ้า” นำร่อง 3 สายเชื่อม EEC
เคาะโครงการนำร่องแล้ว สำหรับแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะกลุ่มจังหวัด ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง รองรับการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) หลัง “สนข.-สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร” ศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม รูปแบบการลงทุน
โดยภาพรวมการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองด้วยระบบขนส่งสาธารณะมี 3 ระบบ ได้แก่ 1.ระบบขนส่งสาธารณะหลัก เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างภูมิภาค และโครงสร้างพื้นฐาน 2.ระบบขนส่งสาธารณะรอง เชื่อมโยงระบบหลักและแหล่งกิจกรรมสำคัญระหว่างเมืองในเขตเมือง และ 3.ระบบขนส่งสาธารณะเสริม เชื่อมโยงแหล่งกิจกรรมย่อยในเขตเมืองหรือพื้นที่อยู่อาศัยเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะสายรอง
สำหรับรูปแบบของรถโดยสารจะเป็นรถโดยสารไฟฟ้า EV bus รถโดยสารขนาดเล็ก EV minibus และรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus โดยการลงทุนรัฐบาลจะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และบริษัทเอกชน รูปแบบ PPP
จากการศึกษาเบื้องต้นได้ประเมินมูลค่าลงทุนไว้ 14,400 ล้านบาท แยกเป็น 2 ช่วง ในช่วงก่อสร้าง มีค่าเวนคืนที่ดิน ค่างานโยธา จัดซื้อขบวนรถโดยสารและงานระบบ รวมมูลค่าลงทุน 7,600 ล้านบาท
และช่วงเปิดบริการ มีค่าดำเนินการ 3,900 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษา 2,900 ล้านบาท แยกเป็น จ.ฉะเชิงเทรา 1,207 ล้านบาท ชลบุรี 2,832 ล้านบาท และระยอง 3,543 ล้านบาท
ขณะที่แนวเส้นทาง สนข.เคาะเส้นทางนำร่องของทั้ง 3 จังหวัดแล้ว โดย “จ.ฉะเชิงเทรา” เลือกแนวเส้นทางจากสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา-โรงเรียนเบญจมฯ-ตะวันออกคอมเพล็กซ์ มีจุดเริ่มต้นที่สถานีฉะเชิงเทรา มุ่งตรงไปทางทิศใต้บนถนนสุวินทวงศ์จากนั้นเลี้ยวซ้าย เข้าสู่ถนนศุขประยูร ผ่านแม่น้ำบางปะกงจนถึงสี่แยกคอมเพล็กซ์ บริเวณ กม.75+150
จากนั้นแนวเส้นทางเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข 365 จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางโครงการ ที่บริเวณตะวันออกคอมเพล็กซ์ ระยะทาง 7.97 กม.
มี 13 สถานี 3 ลานจอดแล้วจร รองรับได้ 225 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง และ ITF บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา เป็นระบบรถโดยสารไฟฟ้า EV bus ค่าโดยสาร 10 บาทตลอดสาย เปิดบริการปี 2567 ผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 2,700 เที่ยวคน/วัน
ชลบุรี
“จ.ชลบุรี” เลือกแนวเส้นทางจากเมืองศรีราชา-รถไฟความเร็วสูงศรีราชา-นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ระยอง (ปลวกแดง) เริ่มต้นที่โรบินสัน ศรีราชา บนถนนสุขุมวิท จากนั้นแนวจะเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แนวถนนอัสสัมชัญ
ผ่านโรงเรียนอัสสัมชัญ จุดตัดสี่แยกเขาสวนเสือศรีราชา ผ่านอ่างเก็บน้ำหนองค้อ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออก เข้าสู่แนวถนนทางหลวง 331 จากนั้นเลี้ยวขวาไปทางทิศใต้เข้าสู่แนวถนน 331 เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่แนวถนนระยอง 3013 แยกปากร่วม จนไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่บริเวณทางเข้าออก เขตประกอบการอุตสาหกรรมสยามอีสเทิร์นอินดัสเตรียลพาร์ค รวมระยะทาง 42 กม.
มี 29 สถานี 4 ลานจอดแล้วจร รองรับ 125 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นระบบรถโดยสารไฟฟ้า EV busราคาค่าโดยสาร กม.ละ 1 บาท เริ่มต้น 10-45 บาท มีผู้โดยสารในปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 เที่ยวคน/วัน
ระยอง
“จ.ระยอง” เลือกแนวนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด-นิคมอุตสาหกรรม IRPC เริ่มต้นที่ทางเข้า-ออก นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด บนถนนสุขุมวิท ผ่านโรงแยกก๊าซธรรมชาติระยอง จุดตัดสี่แยกตลาดมาบตาพุด สะพานข้ามคลองน้ำหู กม.214+195
จากนั้นเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านโรงเรียนอัสสัมชัญระยอง จุดตัดสามแยก บริเวณโรงพยาบาลระยอง ผ่านสะพานข้ามแม่น้ำระยอง กม.222+306 ผ่านปั๊มน้ำมันไออาร์พีซี สวนสุขภาพ เชิงเนิน ไปสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ทางเข้า-ออก เขตประกอบการอุตสาหกรรม บมจ.ไออาร์พีซี ระยะทาง 18.89 กม.
มี 22 สถานี 4 ลานจอดรถ รองรับได้ 350 คัน 1 ศูนย์ซ่อมบำรุง เป็นระบบรถไฟฟ้าล้อยาง Trambus ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย มีผู้โดยสารปี 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 7,000 เที่ยวคน/วัน
เป็นจุดเริ่มต้นที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมในอีก 1-2 ปีนี้ เพื่อรองรับคลื่นคนและการเดินทางที่จะไหลไปยัง 3 จังหวัดพื้นที่อีอีซี ว่าที่ศูนย์กลางการลงทุนแห่งใหม่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อ่านเพิ่มเติม:
- ผุดระบบขนส่งสาธารณะ 3 จังหวัด EEC เชื่อมไฮสปีด-นิคมอมตะ-มาบตาพุด-IRPC
- EEC vs. Eastern Seaboard เหมือน / ต่างกัน อย่างไร
- เซ็นแล้ว! 'อู่ตะเภา-เมืองการบินภาคตะวันออก' เฟสแรกเสร็จปี 67