บอร์ดบีโอไอเคาะยุทธศาสตร์เชิงรุก 4 ปี ดันไทยสู่ฐานผลิตระดับโลก ไฟเขียว 6 โครงการลงทุน กว่า 4.1 หมื่นล้าน

บอร์ดบีโอไอ อนุมัติลงทุน 6 โครงการ มูลค่ากว่า 4.1 หมื่นล้าน

อัปเดตล่าสุด 11 ต.ค. 2566
  • Share :
  • 858 Reads   

บีโอไอ (BOI) เห็นชอบส่งเสริมลงทุน 6 โครงการใหญ่ มูลค่า 41,086 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ  โครงการ Data Center โครงการขนส่งทางอากาศ และโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว 

วันที่ 11 ตุลาคม 2566 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยผลการอนุมัติส่งเสริมโครงการลงทุนโดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุน รวม 6 โครงการ มูลค่า 41,086 ล้านบาท พร้อมเผยสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2566 รายละเอียดดังนี้ 

บีโอไอไฟเขียว อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการลงทุน รวม 6 โครงการ มูลค่า 41,086 ล้านบาท

1) โครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด มูลค่าลงทุน 8,862 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 58,000 คันต่อปี และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (PHEV) 36,000 คันต่อปี

2) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม กรุงเทพฯ

3) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะด้วยเครื่องกังหันไอน้ำ บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด มูลค่าลงทุน 4,892 ล้านบาท มีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช กรุงเทพฯ

4) โครงการ Data Center บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์ จำกัด มูลค่าลงทุน 3,586 ล้านบาท ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

5) โครงการขนส่งทางอากาศ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มูลค่าลงทุน 9,314 ล้านบาท ในการจัดซื้อเครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ ความจุผู้โดยสารรวม 1,670 ที่นั่ง สามารถบรรทุกสินค้ารวม 303 ตัน

6) โครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยว บริษัท ส้งเฉิง โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่าลงทุน 9,540 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี

สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2566

สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 และมีมูลค่าเงินลงทุน 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งในแง่จำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ

ในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีมูลค่า 270,908 ล้านบาท จาก 533 โครงการ รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง 111,810 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 29,428 ล้านบาท ภาคเหนือ 14,281 ล้านบาท ภาคใต้ 12,529 ล้านบาท ภาคตะวันตก 11,376 ล้านบาท ตามลำดับ 

สถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือน (มกราคม – สิงหาคม) ปี 2566

ด้านคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือนแรก มีจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 73 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 90,346 ล้านบาท จาก 228 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ เงินลงทุน 76,437 ล้านบาท จาก 114 โครงการ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์และแผ่นวงจรพิมพ์ และอันดับ 3 ได้แก่ ญี่ปุ่น เงินลงทุน 40,554 ล้านบาท จาก 156 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ในช่วง 8 เดือนแรก มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,106 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุนรวม 288,708 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากในระยะ 1 - 2 ปีข้างหน้า

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH