ไทยจับมือเกาหลี ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ปักหมุด EEC ที่แรก
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงนาม MOU กับ บริษัท Korea Land and Housing Corporation (LH) ในการร่วมมือพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมศักยภาพเชิงพื้นที่ ปักหมุดพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ลำดับแรก รวมถึงพื้นที่อื่นที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าเหมาะสม
วันที่ 15 มิถุนายน 2565 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ระหว่าง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กับบริษัท Korea Land and Housing Corporation (LH) โดยนายคิม ฮยุนจุน (Mr.Kim Hyun Jun) กรรมการผู้มีอำนาจ โดยระบุว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดพันธกิจขับเคลื่อนและพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม (Industrial ecosystem) เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งความร่วมมือระหว่าง กนอ. และ LH ครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดี เชื่อมั่นว่าศักยภาพและประสบการณ์ของ LH จะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย รวมถึงการเพิ่มมูลค่าการลงทุนในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเติบโตเพิ่มมากขึ้น
“ความร่วมมือครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทั้งในประเทศไทยและประเทศเกาหลี คาดว่าจะสามารถพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทำให้ กนอ. เป็นผู้นำการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาคด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนได้ในอนาคต” นายสุริยะ กล่าว
- ส.อ.ท. ผนึก กนอ. ชู Eco Factory For Waste Processor มาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
- BOI เคาะส่งเสริมลงทุนกว่า 2 แสนล้าน เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจผลิตแบตเตอรี่-นิคมอัจฉริยะ
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. มุ่งพัฒนาและยกระดับนิคมอุตสาหกรรมสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยการส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเกิดของเสีย ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายผลักดันให้มีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (Smart Industrial Estate) ส่งเสริมให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม บริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการในนิคมอุตสาหกรรม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบกิจการ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน ทั้งนี้ กนอ.ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจัดทำสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (Smart Industrial Estate and Smart Industrial Zone)
ด้านนายจอน โจยอง (Mr.Jeon Joyoung) อัครราชทูต รองหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูต ผู้แทนถาวรสาธารณรัฐเกาหลีประจำยูเอ็นเอสแคป กล่าวว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของไทยและเกาหลีที่จะร่วมมือกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย และจะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้มีการลงนาม MOU ว่าด้วยความร่วมมือ เมืองอัจฉริยะระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง สาธารณรัฐเกาหลี ดังนั้น ความร่วมมือการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะในครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญในความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยและเกาหลี และไม่เพียงเป็นการร่วมมือระหว่าง กนอ. และ LH Corporation แต่แสดงให้เห็นถึงแผนการของประเทศไทยในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคอุตสาหกรรมของไทยและบริษัทเกาหลีในอนาคต
นายคิม ฮยุนจุน (Mr.Kim Hyun Jun) กรรมการผู้มีอำนาจ LH กล่าวว่า LH เป็นบริษัทของรัฐบาลเกาหลีที่มุ่งมั่นพัฒนาเมืองและอาคารสาธารณะ ขณะที่ กนอ.เป็นผู้นำด้านการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและให้บริการระบบสาธารณูปโภคครบวงจร ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาที่ดินเหมือนกัน ทั้งนี้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมีศักยภาพสูงในภูมิภาคอาเซียน และการเติบโตทางเศรษฐกิจยังได้รับแรงหนุนจากนโยบาย Thailand 4.0 และการพัฒนาพื้นที่ EEC ของรัฐบาลไทย ซึ่งหลังการทำข้อตกลงเอฟทีเอระหว่างเกาหลีและไทยเมื่อปี 2553 ทำให้การค้าระหว่าง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากการลงทุนของเกาหลีในประเทศไทยที่มีมูลค่า 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 และ 406 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 จึงเป็นที่มาของความต้องการของ LH ที่จะขยายขอบเขตความร่วมมือผ่านโครงการพัฒนาต่างๆ ร่วมกับ กนอ. โดยคาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและสร้างโอกาส ในการทำงานเพิ่มขึ้น
ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้มีเป้าหมายดำเนินการในระยะเวลา 2 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดยมุ่งเน้นพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงพื้นที่อื่นที่เห็นชอบร่วมกัน และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้รวมถึงประสบการณ์ในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH